กกร.พอใจ “คมนาคม” พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภาพรวม โดยขอให้เร่งขยาย 4 เลนถนนเชื่อมแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก จาก แม่สอด-ตาก-สุโขทัย-มุกดาหาร และรถไฟทางคู่ “บ้านไผ่-นครพนม” เพราะเป็นเส้นทางที่สำคัญทำให้เกิดการเชื่อมโยงการค้าและการลงทุนระหว่างภูมิภาค
เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 59 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ประชุมร่วมกับ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยนายดรุณ แสงฉาย รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) กล่าวว่า กกร.ได้ติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงานตามที่เคยนำเสนอ เช่น ความคืบหน้าการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ การขนส่งทางถนนระหว่างไทย-กัมพูชา และไทย-มาเลเซีย การจำกัดความสูงของรถพ่วงและน้ำหนักรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล การเร่งรัดก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง การบูรณะปรับปรุงทางหลวงหมายเลข 211 และ 212 (หนองคาย-บึงกาฬ-นครพนม-มุกดาหาร) เพื่อเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน โครงการก่อสร้างถนนตามผังเมืองรวม ถนนสาย ง2 ง3 ผังเมืองรวมเมืองมุกดาหาร จ.มุกดาหาร การเร่งรัดดำเนินการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายบัตร Easy Pass และการพัฒนาโครงข่ายเส้นทางคมนาคมเชื่อมเส้นทาง East West Economic corridor (EWEC)
โครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้ การปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการด้านการขนส่งทางราง โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง มาตรการอำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างสถานีเตาปูน-สถานีบางซื่อ การพัฒนาระบบรางเส้นทางมาบตาพุด-แหลมฉบัง และการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง การปรับปรุงและพัฒนาท่าเทียบเรือเพื่อรองรับการท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญ การพัฒนาท่าอากาศยานสกลนคร และท่าอากาศยานร้อยเอ็ด และการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมอากาศยาน
นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง) กล่าวว่า เอกชนอยากให้เร่งรัดโครงการรถไฟทางคู่ เส้นทาง บ้านไผ่-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม วงเงิน 60,353.41 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้อนุมัติโครงการแล้ว และร.ฟ.ท.ได้ส่งรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) แล้ว อยู่ระหว่างรอการพิจารณา โดยระหว่างนี้ ร.ฟ.ท.จะต้องเสนอโครงการมาที่กระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณาได้ในเดือน ก.ย.นี้ จากนั้นจะต้องขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาพัฒน์ก่อน คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในเดือน ต.ค.เพื่อขออนุมัติคู่ขนานไปกับขั้นตอน EIA ตามคำสั่งมาตรา 44 โดยจะลงนามสัญญาได้เมื่อ EIA ได้รับอนุมัติ
สำหรับโครงข่ายถนนแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก “ถนนช่วงแม่สอด-ตาก-สุโขทัย-พิษณุโลก-เพชรบูรณ์มุกดาหาร” นั้น หอการค้าเสนอให้เร่งเชื่อมช่วงที่ยังไม่ได้ขยายจาก 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร ล่าสุดช่วงน้ำหนาวตอน 2 ซึ่งมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้รับการอนุมัติ EIA แล้ว รวมถึงได้รับงบประมาณในปี 2560 เพื่อดำเนินการแล้ว ส่วนช่วงนาไคร้-คำชะอี ระยะทาง 71 กม.ได้รับงบประมาณปี 2560 วงเงิน 2,400 ล้านบาท ดังนั้น ภายในปี 2560 จะเริ่มงานก่อสร้างช่วงที่ยังตอนอยู่ได้ โดยก่อสร้าง 3 ปีจะทำให้ถนนเชื่อมตะวันออก-ตะวันตกด้านบนเป็น 4 ช่องจราจรสมบูรณ์
นายสถาพร มงคลศรีสวัสดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หอการค้าไทย กล่าวว่า กกร.ได้ติดตามประเด็นข้อเสนอต่างๆ ของเอกชนที่ได้นำเสนอ เช่น โครงสร้างพื้นฐานตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก-ตะวันออก ในบางช่วงที่ผ่านน้ำหนาวยังติดเรื่อง EIA อยากให้เร่งรัด เพราะเป็นเส้นทางที่สำคัญทำให้เกิดการเชื่อมโยงการค้าและการลงทุนระหว่างภูมิภาค ล่าสุดมีความคืบหน้าแล้ว ส่วนระบบรางนั้นภาคเอกชนเสนอให้เร่งรัดโครงการในแผนปี 60, 61 ที่มีการจัดสรรงบประมาณไปมาก รวมถึงเร่งรัดโครงการรถไฟทางคู่เส้นทางบ้านไผ่-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม ซึ่งยังติดประเด็น EIA สำหรับท่าเรือครุย ล่าสุดกระทรวงคมนาคมเลือกพัฒนาที่เกาะสมุย ซึ่งเอกชนเสนอให้พัฒนาท่าเรือกระบี่ควบคู่ไปด้ว เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูงมาก