xs
xsm
sm
md
lg

ยังไม่ฟื้น! ส่งออก ก.ค.ติดลบ 4.35% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ส่วนยอด 7 เดือนก็ยังลบ 1.99%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ส่งออกเดือน ก.ค.ยังไม่ฟื้น ติดลบ 4.35% เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ส่วนยอดรวม 7 เดือนยังคงติดลบ 1.99% “พาณิชย์” คาดหาก 5 เดือนที่เหลือส่งออกได้แค่เดือนละ 1.8 หมื่นล้านเหรียญ ทั้งปีจะติดลบ แต่ถ้าทำได้ถึงเดือนละ 1.9 หมื่นล้านเหรียญ ก็จะกลับมาบวกนิดๆ

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกสินค้าไทยเดือนก.ค. 2559 มีมูลค่า 17,415.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.35% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. 2558 ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 นับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2559 ที่การส่งออกติดลบ 8% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 16,202.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.16% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า มูลค่า 1,212.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

“การส่งออกเดือน ก.ค.ที่ติดลบ 4.35% เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ ราคาน้ำมันยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยเมื่อเดือน ก.ค. กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2559 จะขยายตัวเพียง 3.1% โดยปรับลดลง 0.1% จากที่คาดการณ์ไว้ช่วงเดือน เม.ย. จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวและก็คงมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกทั่วโลก” นายสุวิทย์กล่าว

สำหรับตัวเลขการส่งออกในช่วง 7 เดือนของปี 2559 (ม.ค.-ก.ค.) มีมูลค่า 122,552.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.99% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนการนำเข้าช่วง 7 เดือนมีมูลค่า 108,926.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 9.78% ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า มูลค่า 13,626.1 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวว่า สาเหตุที่การส่งออกยังติดลบเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกทรงตัวต่ำ โดยเดือน ก.ค.ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 42.5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงจากเดือนเดียวกันปีที่ผ่านมาที่ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 46.5 เหรียญสหรัฐ ซึ่งต้องติดตามว่าระดับราคาน้ำมันในช่วงครึ่งปีหลังจะปรับตัวสูงขึ้นได้หรือไม่ เพราะสัดส่วนการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ มีสัดส่วนรวมกันถึง 10% ของภาพรวมการส่งออกทั้งหมด

ขณะที่สถานการณ์ค่าเงินบาทปัจจุบันที่มีการแข็งค่าขึ้น แต่หากเทียบกับประเทศคู่แข่งในอาเซียน ไทยยังแข็งค่าน้อยกว่าค่าเงินของมาเลเซีย สิงคโปร์ รวมถึงญี่ปุ่น ซึ่งระดับการแข็งค่าของเงินบาทไทยใกล้เคียงกับการแข็งค่าของค่าเงินยูโร ดังนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการส่งออก คิดว่าไม่มาก แต่ต้องติดตามนโยบายประเทศยักษ์ใหญ่ของโลกที่จะมีการขยับในเรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (คิวอี) ว่าจะมีเพิ่มเติมแค่ไหน

อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ หากการส่งออกไทยอีก 5 เดือน ส่งออกได้ต่อเนื่องประมาณเดือนละ 1.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกก็จะติดลบนิดๆ ประมาณลบ 2% ซึ่งจะพยายามไม่ให้แย่กว่านี้ แต่หากส่งออกได้ถึงเดือนละ 1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกปี 2559 ก็จะกลับมาเป็นบวกเล็กๆ ได้

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การส่งออกปี 2559 ที่ตั้งเป้าขยายตัว 5% เป็นเป้าทำงานที่ได้แจ้งต่อทูตพาณิชย์ผลักดัน ส่วนการประเมินการส่งออกปี 2559 ที่แท้จริงจะมีการหารืออีกครั้งในการประชุมทูตพาณิชย์ช่วงเดือน ก.ย.นี้ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร และตัวเลขประมาณการจะออกมาเป็นเท่าไร แต่หากดูจากสถิติย้อนหลัง การส่งออกในช่วง 3 ปี พบว่าการส่งออกในช่วง 5 เดือนสุดท้าย ตั้งแต่ ส.ค.-ธ.ค.จะขยายตัวได้ดี โดยส่งออกเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี เดือน ส.ค.อยู่ที่ 1.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ก.ย.และ ต.ค. เฉลี่ยเดือนละ 1.93 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ พ.ย.เฉลี่ย 1.81 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และ ธ.ค.เฉลี่ย 1.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หากเป็นไปตามนี้การส่งออกก็จะใกล้เคียงกับปีที่แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า การแถลงข่าวตัวเลขการส่งออกในครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์แจ้งว่ามีความผิดพลาดในการส่งข้อมูลตัวเลขจากกรมศุลกากร โดยเฉพาะตัวเลขการส่งออกยานยนต์ ทำให้ไม่สามารถคำนวณการส่งออกของไทยที่ส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ได้ และได้แจ้งอีกว่าสัปดาห์หน้าอาจต้องมีการปรับปรุงตัวเลขใหม่อีกครั้ง แต่อาจจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
กำลังโหลดความคิดเห็น