xs
xsm
sm
md
lg

พาณิชย์ชี้ ผปก.ได้มาตรฐานแรงงาน สัญลักษณ์ “Thailand Trust Mark” สร้างความมั่นคงแบรนด์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยความคืบหน้าการจัดทำตราสัญลักษณ์ “Thailand Trust Mark” ให้กับสินค้าและบริการไทยที่มีความพร้อมด้านคุณภาพและมาตรฐาน พบมีผู้ประกอบการสนใจนำตราสัญลักษณ์ไปใช้แล้ว 685 บริษัท เช่น กลุ่มอาหาร อุตสาหกรรมหนัก ไลฟ์สไตล์ แฟชั่น บริการ ฯลฯ ชี้ผู้ประกอบการที่สร้างมาตรฐานแรงงานสามารถสร้างความมั่นคงให้กับแบรนด์ได้

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับสินค้าและบริการของไทยในตลาดต่างประเทศ ทางกระทรวงพาณิชย์ โดย รมต. “อภิรดี ตันตราภรณ์” จึงได้มีแผนให้จัดทำตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่สินค้าและบริการ รวมถึงจริยธรรมของผู้ประกอบการ เป็นการสร้างการยอมรับและความเชื่อมั่นของประเทศคู่ค้าและผู้บริโภคในตลาดโลก

ที่ผ่านมาหลังจากมีการนำตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark ไปใช้ พบว่าผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศต่างให้ความไว้วางใจส่งผลให้สินค้าอุตสาหกรรมมียอดการส่งออกเพิ่มขึ้นในระดับที่น่าพึงพอใจ โดยผู้ประกอบการที่ต้องการได้รับตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark จะต้องผ่านการตรวจประเมินหลัก ดังนี้ 1) อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) และ 2) มาตรฐานแรงงานที่เป็นธรรม

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการส่งออกไทยได้รับตราสัญลักษณ์ TTM แล้วกว่า 685 บริษัท แบ่งเป็นอุตสาหกรรมอาหาร 233 บริษัท อุตสาหกรรมหนัก 177 บริษัท อุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ 127 บริษัท อุตสาหกรรมแฟชั่น 49 บริษัท อุตสาหกรรมอื่น 83 บริษัท และธุรกิจบริการ 16 บริษัท (ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2559)

อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าวต่อว่า ส่วนมาตรฐานแรงงานเป็นเรื่องที่สำคัญที่ผู้ประกอบการจะละเลยไม่ได้ การดูแลพนักงานถือได้ว่าเป็นเรื่องของความรับผิดชอบทางสังคมภายใต้หลักธรรมาภิบาลทางธุรกิจ ล่าสุดเพื่อบูรณาการรับรองมาตรฐานแรงงานไทย กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เร่งขับเคลื่อนนโยบายยกระดับมาตรฐานแรงงานไทยและส่งเสริมผู้ประกอบการทุกกลุ่มอุตสาหกรรมให้เตรียมพร้อมเพื่อขอการรับรองมาตรฐานแรงงานไทย มรท.8001-2553 (Thailand Labour Standard : TLS 8001-2010) โดยมีกำหนดเปิดรับคำขอตลอดปี แบ่งการรับรองเป็น 2 ระดับ คือ 1) การรับรองระดับพื้นฐานซึ่งเกี่ยวกับสภาพการจ้างงานและสภาพการทำงาน เช่น ชั่วโมงการทำงาน ค่าตอบแทน ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ตลอดจนสวัสดิการที่นายจ้างได้จัดให้แก่ลูกจ้าง มีระยะเวลาการรับรอง 2 ปี 2) การรับรองระดับสมบูรณ์ คือ การรับรองสถานประกอบกิจการที่ได้ปฏิบัติสอดคล้องกับข้อกำหนด มรท.8001-2553 ทุกข้อกำหนด

ทั้งนี้ ให้มีการรับรองทั้งหมด 4 ขั้น ซึ่งแต่ละขั้นจะมีชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาต่างกัน ดังนี้ 1) ขั้นริเริ่ม ไม่เกิน 36 ชม. 2) ขั้นพัฒนา ไม่เกิน 24 ชม. 3) ขั้นก้าวหน้า ไม่เกิน 18 ชม. และ 4) ขั้นสูงสุด ไม่เกิน 12 ชม. และมีระยะเวลาการรับรอง 3 ปี ปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยที่ผ่านการรับรองมาตรฐานแรงงานไทยแล้ว เช่น บริษัท ชาเขียว จำกัด บริษัท โจ-ลี่ แฟมิลี่ จำกัด บริษัท ยูโรเปี้ยนฟู้ด จำกัด (มหาชน) บริษัท สแตนดาร์ด แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด บริษัท สวัสดิ์อุดมเอ็นจิเนียริ่ง (ระยอง) จำกัด บริษัท เอ๊กโก้ ฟอร์จจิ้ง โปรดักส์ จำกัด เป็นต้น ซึ่งการได้รับการรับรองนี้ถือเป็นอีกหนึ่งความเข้มแข็งของสินค้าและต่อยอดการเติบโตให้กับธุรกิจได้

โดยกรมฯ เปิดรับสมัครให้ผู้ประกอบการส่งออกสามารถสมัครขอรับตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark ได้ถึง 3 ครั้ง ทุกๆ 4 เดือน เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้มีการพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติครบตามที่กำหนด ซึ่งผู้ประกอบการที่มีความสนใจ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดให้ลงทะเบียนสมัครเพื่อขอรับตราสัญลักษณ์นี้ได้ผ่านเว็บไซต์ www.thailandtrustmark.com สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 1169

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น