xs
xsm
sm
md
lg

“อภิรดี” สั่งพาณิชย์จังหวัด 11 จังหวัดน้ำท่วมตรวจสถานการณ์สินค้า ยันยังไม่พบขาดแคลน กักตุน ราคาขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อภิรดี” สั่งพาณิชย์จังหวัดติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าใน 11 จังหวัดที่เกิดน้ำท่วม เผยยังไม่พบสินค้าขาดแคลน กักตุน และราคาสูงขึ้น ย้ำหากประชาชนได้รับความเดือดร้อนให้รีบแจ้งสายด่วน 1569 ทันที พร้อมโชว์แผนดูแล 2 ระยะ ทั้งช่วงน้ำท่วมและการฟื้นฟูหลังน้ำลด

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้กำชับให้พาณิชย์จังหวัดในเขตจังหวัดที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วมภาคเหนือจำนวน 11 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา ลำพูน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ น่าน แพร่ และลำปาง ดูแลสินค้าให้มีเพียงพอต่อความต้องการ ป้องกันไม่ให้สินค้าขาดแคลนและเกิดการกักตุน โดยให้รายงานสถานการณ์ให้กระทรวงฯ รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะได้กำหนดมาตรการเข้าไปดูแลได้ทันท่วงทีหากพื้นที่ใดมีปัญหา

“เท่าที่ได้รับรายงานเบื้องต้น สินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพในพื้นที่น้ำท่วมมีราคาทรงตัว ปริมาณสินค้ามีเพียงพอต่อความต้องการ ไม่มีการฉวยโอกาสเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค และไม่พบการกักตุนสินค้า แต่หากประชาชนพบว่ามีการเอารัดเอาเปรียบ ขอให้แจ้งได้ที่สายด่วน 1569 กระทรวงฯ จะเข้าไปดูแลทันที และหากพบว่าพ่อค้าแม่ค้ามีการกระทำความผิดจริง จะมีโทษจำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

สำหรับมาตรการดูแลสถานการณ์สินค้าและราคาสินค้าในช่วงเกิดสาธารณภัย กระทรวงได้กำหนดมาตรการไว้เป็น 2 ระยะ คือ ช่วงภาวะสาธารณภัย และช่วงหลังสาธารณภัย

โดยช่วงภาวะสาธารณภัย กำหนดแผนการช่วยเหลือประชาชน เช่น การจัดหาสินค้าที่จำเป็นในช่วงภาวะที่เกิดสาธารณภัย ประกอบด้วย กลุ่มสินค้าอาหารที่จำเป็นเพื่อการยังชีพ ได้แก่ ข้าวสาร อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง น้ำดื่มบรรจุขวด เป็นต้น กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ที่จำเป็น ได้แก่ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน กระดาษชำระ ผ้าอนามัย เป็นต้น และกลุ่มสินค้าวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ ปูนซีเมนต์ ทราย กระสอบทราย อิฐบล็อก เหล็ก ไม้ และแผ่นสังกะสี เป็นต้น รวมทั้งจัดรถจำหน่ายสินค้าเคลื่อนที่ (Mobile Unit) โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในราคาถูกกว่าท้องตลาดทั่วไป ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำดื่มบรรจุขวด นมสดพร้อมดื่ม และไข่ไก่ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้จัดจุดจำหน่ายสินค้าในพื้นที่เกิดอุทกภัยให้มากที่สุด รวมถึงพื้นที่ที่มีความเสี่ยงภัย พร้อมกันนี้ กำหนดจัดตั้งศูนย์ประสานงานการกระจายสินค้าเพื่อผู้บริโภคเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง และจัดสายตรวจพิเศษกำกับดูแลการจำหน่ายสินค้ามิให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภค ตลอดจนประสานให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในการกระจายสินค้าที่ตกค้างอยู่ในศูนย์กระจายสินค้าต่างๆ เพื่อจัดส่งไปยังร้านค้าปลีกท้องถิ่นได้อย่างทั่วถึง

สำหรับช่วงหลังการเกิดสาธารณภัย ได้กำหนดแผนให้ความช่วยเหลือประชาชน เช่น การจัดงานธงฟ้าเพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชนในพื้นที่ประสบภัยหลังจากสถานการณ์เริ่มคลี่คลายลง รวมทั้งประสานขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้จำหน่ายสินค้าที่จำเป็นในการฟื้นฟูหลังเกิดสาธารณภัย เช่น สินค้าวัสดุก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้า และยารักษาโรค เป็นต้น อีกทั้งประสานขอความร่วมมือผู้ประกอบธุรกิจเอกชนและสถาบันการศึกษา ในการให้บริการตรวจเช็กและซ่อมแซมที่พักอาศัย เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะในราคาถูกพิเศษ เช่น สมาคมก่อสร้างไทย สมาคมบ้านจัดสรร ศูนย์บริการรถยนต์ตราต่างๆ อู่ซ่อมรถ วิทยาลัยอาชีวศึกษา ผู้ประกอบการสินค้าวัสดุก่อสร้างรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

ทางด้านผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัย กระทรวงฯ จะให้ความช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ เช่น สนับสนุนการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ตลาดสด และตลาดกลางสินค้าเกษตรในความส่งเสริม เช่น การจัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการดำเนินธุรกิจและการจำหน่าย เป็นต้น รวมทั้งเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลผลิตของเกษตรกรรายย่อยและสินค้าของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ เช่น การจำหน่ายสินค้าในงานธงฟ้าของกรมการค้าภายใน และขอความร่วมมือให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจัดหาสถานที่จำหน่ายสินค้าเป็นกรณีพิเศษ
กำลังโหลดความคิดเห็น