นายประพิศ จันทร์มา ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง กรมชลประทาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการประตูระบายน้ำคลองระบายน้ำ D8 (ห้วยพระคือ) ระยะที่ 2 จ.ขอนแก่น ว่า ขณะนี้การก่อสร้างสถานีสูบน้ำก้าวหน้าถึง 90% หรือใกล้แล้วเสร็จ คาดว่าจะทันใช้งานในฤดูน้ำหลากช่วงปลายปี 2559 นี้ ซึ่งจะช่วยพื้นที่การเกษตรร่วม 20,000 ไร่รอดพ้นน้ำท่วมซ้ำซากได้
พื้นที่ในโครงการดังกล่าว ประกอบด้วย ต.พระลบ ต.บึงเนียม ต.ศิลา และ ต.เมืองเก่า อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งในฤดูน้ำหลากประสบปัญหาน้ำท่วมจากลำน้ำสาขาแม่น้ำพอง ท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ น้ำจากเทศบาลเมืองขอนแก่น และน้ำจากแม่น้ำชีสายหลัก จาก จ.ชัยภูมิ ไหลขึ้นมาบรรจบบริเวณท้ายเขตเมืองขอนแก่น ส่งผลให้น้ำท่วมพื้นที่ดังกล่าวเป็นประจำทุกปีกลายเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก
ทั้งนี้ โครงการประตูระบายน้ำคลองระบายน้ำ D8 (ห้วยพระคือ) ระยะที่ 1 ซึ่งก่อสร้างประตูระบายน้ำพระคือ ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2555 ซึ่งช่วยป้องกันน้ำจากแม่น้ำชีสายหลักไหลล้นตลิ่งเข้าไปท่วมพื้นที่ได้ แต่ยังมีน้ำหลากท่วมในลำน้ำพระคือ ดังนั้นจึงต้องดำเนินการระยะที่ 2 คือก่อสร้างสถานีสูบน้ำพร้อมอาคารประกอบ โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำด้วยไฟฟ้าขนาด 3 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จำนวน 20 เครื่อง เพื่อระดมสูบน้ำออกจากลำห้วย
“ปกติห้วยพระคือทำหน้าที่เป็นเส้นทางระบายน้ำเลี่ยงเมืองขอนแก่นของแม่น้ำพอง แต่พอฤดูน้ำหลากจะเป็นที่รวมศูนย์ของน้ำหลายแหล่ง ทั้งจากลำน้ำสาขาห้วยพระคือเอง น้ำจากเทศบาลเมืองขอนแก่น และน้ำจากแม่น้ำชีหนุนทะลักเข้าพื้นที่จนท่วม การสร้างประตูระบายน้ำทั้งหัว-ท้ายลำห้วยพระคือ ทั้งส่วนที่ต่อกับแม่น้ำพอง และส่วนที่ติดกับแม่น้ำชี ก็เพื่อบล็อกน้ำไว้ในลำห้วย แล้วก่อสร้างสถานีสูบน้ำเพื่อสูบระบายลงแม่น้ำชีสายหลักต่อไป พื้นที่ 2 หมื่นไร่ก็สามารถทำการเพาะปลูกได้”
นายประพิศกล่าวว่า โครงการห้วยพระคือ 1-2 จะทำให้พื้นที่ 4 ตำบลของ อ.เมืองขอนแก่นรอดพ้นจากปัญหาอุทกภัยซ้ำซาก ขณะเดียวกันพอปลายฤดูฝนก็จะเลิกสูบระบายน้ำลงแม่น้ำชี แล้วเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำห้วยพระคือเพื่อทำการเกษตรในฤดูแล้งถัดไป
“จากสภาพพื้นที่น้ำท่วมถาวร ฤดูน้ำหลากเพาะปลูกไม่ได้ ฤดูแล้งขาดแคลนน้ำ ก็จะแปรเป็นพื้นที่การเกษตรที่มั่นคงขึ้น ทำการเพาะปลูกได้ทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง สร้างความมั่นคงให้เกษตรกรชัดเจน” นายประพิศกล่าว