นราธิวาส - คลองชลประทานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นแหล่งน้ำหลักในการดับไฟไหม้ป่าในพื้นที่อำเภอสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส
วันนี้ (16 พ.ค.) นายแวมามุ แวหะมะ ผู้อำนวยการโครงการลุ่มน้ำและบำรุงรักษาโก-ลก กรมชลประทาน กล่าวถึงผลการปฏิบัติงานของหน่วยในภารกิจดับไฟไหม้ป่าในพื้นที่อำเภอสุไหงโก-ลกว่า ตั้งแต่วันที่ 3-16 พ.ค.2559 โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโก-ลก กรมชลประทาน ได้ดำเนินการปิดอาคารรอบขอบพรุทั้ง 35 แห่ง เพื่อเก็บกักน้ำไว้ที่ระดับกำหนด รวมทั้งสนับสนุนเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าสถานีสูบน้ำโคกกูแว เริ่มสูบตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.-16 พ.ค.59 ระยะเวลาที่สูบ 336 ชั่วโมง ปริมาณน้ำรวม 967,680 ลูกบาศก์เมตร สนับสนุนเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ 7 เครื่อง จากฝ่ายเครื่องจักรกล สำนักงานชลประทานที่ 17
โดยเริ่มสูบวันที่ 12 เม.ย.-16 พ.ค.59 ระยะเวลา 436 ชั่วโมง ปริมาณน้ำรวม 425,200 ลูกบาศก์เมตร สนับสนุนน้ำที่จะนำมาดับไฟจากคลองชลประทาน ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประกอบด้วยคลองชลประทานมูโนะ คลองชลประทานปาเสมัส คลองชลประทานโต๊ะแดง รวมทั้ง 3 สาย มีปริมาณน้ำรวม 1,250,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอต่อการนำน้ำไปดับไฟ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเฮลิคอปเตอร์จากกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกองทัพบก รวม 3 ลำ ได้นำน้ำจากคลองปาเสมัสไปใช้แล้ว จำนวน 215 เที่ยว คิดเป็นปริมาณน้ำรวม 215,000 ลิตร ขณะที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนราธิวาส ได้สูบน้ำจากคลองปาเสมัสไปใช้รักษาความชุ่มชื้นให้แก่ป่าพรุ 1,934 ลูกบาศก์เมตร
นายแวมามุ แวหะมะ ผู้อำนวยการโครงการลุ่มน้ำและบำรุงรักษาโก-ลก กรมชลประทาน กล่าวว่า โชคดีที่อำเภอสุไหงโก-ลก มีคลองระบายน้ำในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นแหล่งน้ำหลักในการดับไฟไหม้ป่า เพราะในช่วงหน้าแล้งได้มีการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในพื้นที่รับผิดชอบอยู่แล้ว จึงได้นำมาใช้ในภารกิจดับไฟไหม้ป่าอย่างเพียงพอ เนื่องจากช่วงหน้าแล้งแหล่งน้ำต้นทุนในแม่น้ำโก-ลก ก็ลดลงจนเกือบเข้าสู่ภาวะวิกฤต ส่วนแหล่งน้ำตามธรรมชาติก็แห้งขอด มีปริมาณน้ำให้ใช้อย่างจำกัด