รฟม.แบ่ง 2 เฟส ทยอยเปิดให้บริการเดินรถสีน้ำเงินต่อขยาย ระยะที่ 1 ใน ก.พ. 62 ช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ-หลักสอง และระยะที่ 2 ต.ค. 62 เปิดช่วงเตาปูน-ท่าพระ ได้ตลอดสายทาง พร้อมเล็งเปิดให้ชมความงดงามของสถานีสนามไชย ที่ออกแบบตกแต่งคล้ายท้องพระโรงสมัยรัตนโกสินทร์ ปลายปีนี้ก่อน
พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่เพื่อติดตามการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) บริเวณสถานีสนามไชย ว่าการก่อสร้างงานโยธาโดยรวมมีความก้าวหน้า 80.86% ส่วนสถานีสนามไชยเป็นจุดก่อสร้างอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาไปสิ้นสุดบริเวณวัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร รวมความยาว 2.6 กิโลเมตร มีความคืบหน้าประมาณ 97.74% เร็วกว่าแผนประมาณ 5% และคาดว่าการก่อสร้างสถานีจะแล้วเสร็จปลายปีนี้พร้อมเปิดให้ประชาชนเข้าชมภายในสถานีได้ เนื่องจากภายในสถานีสนามไชยจะมีการตกแต่งด้านสถาปัตยกรรมที่สวยงาม ตกแต่งคล้ายท้องพระโรงสมัยรัตนโกสินทร์ มีความงดงาม ทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมและประวัติที่สำคัญ ออกแบบโดยนายภิญโญ สุวรรณคีรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม)
สำหรับการก่อสร้าง สัญญาที่ 1 งานออกแบบควบคู่การก่อสร้างเส้นทางใต้ดิน ช่วงหัวลำโพง-สนามไชย ระยะทาง 2.8 กม. มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้ก่อสร้าง มูลค่างาน 11,441,075,580 บาท การก่อสร้างคืบหน้า 87.60% สัญญาที่ 2 งานออกแบบควบคู่การก่อสร้างเส้นทางใต้ดินช่วงสนามไชย-ท่าพระ ระยะทาง 2.6 กม. มี บมจ.ช.การช่าง เป็นผู้รับงาน มูลค่า 10,687ล้านบาท การก่อสร้างคืบหน้า 97.74% สัญญาที่ 3 งานก่อสร้างเส้นทางยกระดับช่วงเตาปูน-ท่าพระ ระยะทาง 11 กม. มีกิจการร่วมค้าเอสเอช-ยูเอ็น (บริษัท ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น จำกัด-บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น หรือ UNIQ) รับงาน มูลค่า 11,284 ล้านบาท มีความคืบหน้า 59.76%
สัญญาที่ 4 งานก่อสร้างเส้นทางยกระดับ ช่วงท่าพระ-หลักสอง ระยะทาง 10.5 กม. บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น รับงานมูลค่า 13,334 ล้านบาท มีความคืบหน้า 81.18% และสัญญาที่ 5 งานระบบรางช่วงหัวลำโพง-บางแค มี บมจ.ช.การช่าง เป็นผู้รับงาน มูลค่า 5,153 ล้านบาท งานคืบหน้า 76.66%
พล.อ.ยอดยุทธกล่าวว่า ตามแผนสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายจะเปิดเดินรถในปี 2562 โดยขณะนี้ได้ปรับแผนการเปิดเดินรถโดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะเพื่อเร่งทยอยเปิดส่วนที่แล้วเสร็จก่อน คือ ระยะที่ 1 เปิดเดินรถสายใต้ช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ-หลักสอง เดือนกุมภาพันธ์ 2562 และระยะที่ 2 เปิดเดินรถสายเหนือช่วงเตาปูน-ท่าพระ หรือเปิดได้ตลอดสายทางในเดือนตุลาคม 2562
สำหรับการพิจารณาอัตราค่าโดยสารของสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายนั้น พล.อ.ยอดยุทธกล่าวว่า จะพิจารณาในอยู่ในอัตราที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับประชาชนผู้ใช้บริการและเอกชนผู้รับสัมปทานเดินรถ คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM โดยเบื้องต้นบอร์ด รฟม. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการเจรจา ตามคำสั่ง ม.44 ที่จะรวมการเดินรถสายเฉลิมรัชมงคล สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย เป็นวงกลมต่อเนื่องกัน โดยกำหนดไว้ 2 แนวทาง คือ เริ่มต้นที่ 16 บาท สูงสุดไม่เกิน 42 บาท ซึ่งจะเป็นอัตราปัจจุบันของสายเฉลิมรัชมงคล หรือ เริ่มต้นที่ 16 บาท และคิดตามระยะทาง โดยค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 18 สถานี จากทั้งหมด 32 สถานี เพื่อไม่ให้ค่าโดยสารสูงเกินไป
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าแนวทางที่ 1 อาจมีความเป็นไปได้น้อยกว่า เนื่องจากสายเฉลิมรัชมงคลปัจจุบันจัดเก็บที่ 16-42 บาท หากมีส่วนต่อขยายมาเพิ่มเติมแต่ยังจัดเก็บสูงสุดไม่เกิน 42 บาท เท่ากับส่วนต่อขยายไม่คิดค่าโดยสารเพิ่ม เพราะเหมารวมกันคลอดสายในราคาเดิม ซึ่งอาจไม่เป็นธรรมทั้งกับภาครัฐ ที่ต้องมีรายได้จากค่าโดยสารมาชำระคืนหนี้ค่าก่อสร้าง รวมถึง เอกชนผู้เดินรถเดินรถ ที่มีค่าบริหารจัดการและค่าบำรุงรักษาต่างๆ ในส่วนของต่อขยาย โดยคณะกรรมการมาตรา 43 ของสายเฉลิมรัชมงคล และคณะกรรมการมาตรา 35 ของส่วนต่อขยายจะหารือกันในประเด็นนี้เพื่อเลือกแนวทางที่เหมาะสม