“ประยุทธ์” โยกเกียร์เดินหน้าก่อสร้างมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-โคราช มูลค่า 7.6 หมื่นล้าน ด้าน “อาคม” เผย ก.ย.-ต.ค.นี้ ชง กก.PPP เคาะประมูลงานระบบเก็บเงินและบำรุง (O&M) พร้อมเร่งพัฒนาจุดบริการหรือ Service Center ตลอดแนวเส้นทาง สั่งยกระดับสินค้าโอทอป สร้างจุดแข็งสร้างเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ โดยเปิดเอกชนลงทุนเช่นกัน ขณะที่ ทล.เตรียมเซ็นสัญญาอีก 3 ตอนวันที่ 8 ส.ค.นี้ วงเงินกว่า 4.4 พันล้าน
วันนี้ (3 ส.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานพิธีเริ่มการก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ใน สัญญาที่ 7 (ทางแยกต่างระดับสระบุรี) วงเงิน 1,509 ล้านบาท โดยมี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้ก่อสร้าง เป็นสัญญาแรก
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติโครงการมอเตอร์เวย์ 3 สาย กรมทางหลวง (ทล.) ได้เร่งรัดประมูล โดยมอเตอร์เวย์สาย 6 (บางปะอิน-โคราช) ระยะทาง 196 กม. วงเงิน 76,600 ล้านบาท แบ่ง 40 สัญญา โดยประมูลในปีงบประมาณ 2559 จำนวน 25 สัญญา ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ได้อนุมัติก่อหนี้ผูกพัน อีก 3 สัญญา คือ ตอนที่ 6 ตอนที่ 13 และตอนที่ 14 วงเงินรวมประมาณ 4,422 ล้านบาท และจะประมูลในปีงบประมาณ 2560 อีก 15 สัญญา ใช้เวลาก่อสร้าง 36 เดือนแล้วเสร็จในปี 2563 ซึ่งอาจจะพิจารณาเปิดให้บริการเป็นช่วงๆ ที่ก่อสร้างเสร็จก่อน
สั่งออกแบบจุดพักรถบริการครบวงจร สร้างจุดแข็งสินค้าโอทอปดึงดูดนักท่องเที่ยว
โดยตลอดแนวจะมีทางเข้า-ออกรวม 9 ด่าน มีจุดทางแยกต่างระดับที่เชื่อมต่อกับทางหลวงจำนวน 9 แห่ง และมีพื้นที่บริการทางหลวง (Service Area) จำนวน 8 แห่ง ประกอบด้วย ที่พักริมทางหลวง (Rest Area) จำนวน 5 แห่ง สถานีบริการทางหลวง (Service Area) จำนวน 2 แห่ง และศูนย์บริการทางหลวง (Service Center) จำนวน 1 แห่ง ซึ่งจะทำการทดสอบความสนใจภาคเอกชน (Market Sounding) รับฟังความคิดเห็นภาคเอกชนเพื่อศึกษารูปแบบร่วมลงทุนที่เหมาะสม เพื่อสร้างรายได้กลับคืนโครงการ ซึ่งนโยบายของนายกฯ และรองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ให้มีการสนับสนุนสินค้าพื้นเมือง ในท้องถิ่น นำมาพัฒนาสร้างจุดแข็ง ดึงดูดสร้างให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว
“กรมทางหลวงจะต้องหาแนวคิดในการพัฒนา Service Center ให้มีจุดขายและคัดเลือกสินค้าจากประชาชนในพื้นที่ สนับสนุนโอทอป ที่ยังไม่มีโอกาสขึ้นห้างเข้ามา ซึ่งจะต้องกำหนดหลักเกณฑ์หาวิธี และเปิดประมูลต่อไป ส่วนจุดพักรถบนมอเตอร์เวย์สาย 7 ปัจจุบันมีสภาพทรุดโทรมาก และมีปริมาณรถเข้าไปใช้บริการจำนวนมาก ร้านค้าหนาแน่นทรุดโทรม ซึ่งได้หารือกับ ปตท.ในฐานผู้รับสัมปทานให้เร่งปรับปรุงเช่นกัน” นายอาคมกล่าว
ส่วนระบบบริหารจัดการและงานบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) ซึ่งจะให้เอกชนร่วมลงทุน ตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ด้วยรูปแบบ PPP Gross Cost หรือ DBFMO (Design, Build, Finance, Maintainand Operated) นั้น คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการ PPP ได้ภายในเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ นอกจากนี้ยังมีการทบทวนแผนแม่บทมอเตอร์เวย์ระยะ 20 ปี โดยจะมี 21 สายทาง ระยะทาง 6,612 กม. ซึ่งจะเสนอ ครม.เร็วๆ นี้ และขณะนี้อยู่ระหว่างทบทวนแผนแม่บทมอเตอร์เวย์ระยะ 20 ปี โดยจะมี 21 สายทาง ระยะทาง 6,612 กม. วงเงินลงทุนรวมกว่า 2.1 ล้านล้านบาท
สำหรับมอเตอร์เวย์สาย 6 เป็นเส้นทางเชื่อมภาคอีสาน และเชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งช่วยลดต้นทุนด้านลอจิสติกส์จากภาคอีสานไปยังท่าเรือ และลดระยะเวลาในการเดินทางซึ่งเวลาปกติใช้เวลา 3 ชั่วโมงครึ่งช่วงเทศกลาง 6-7 ชั่วโมง เหลือเพียง 1 ชั่วโมงครึ่ง หากก่อสร้างมอเตอร์เวย์สาย 6 และสาย 81 (บางใหญ่-กาญจนบุรี) เสร็จ จะทำให้ไทยมีโครงข่ายมอเตอร์เวย์เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน หรือสัดส่วนที่ 13 กม./1,000 ตร.กม. ขยับแซงมาเลเซียที่มีสัดส่วน 6 กม./1,000 ตร.กม. ขณะที่อันดับ 1 คือสิงคโปร์มีโครงข่ายถึง 260 กม./1,000 ตร.กม. ซึ่งการพัฒนามอเตอร์เวย์เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจประเทศ และรองรับการลงทุนในอนาคต
ทยอยก่อสร้าง เผย 8 ส.ค.เซ็นอีก 3 สัญญา กว่า 4.4 พันล้าน
นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวงกล่าวว่า ในวันที่ 8 ส.ค.นี้จะลงนามก่อสร้าง มอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-โคราช อีก 3 สัญญา คือตอนที่ 6 มี บมจ.ช.การช่าง รับงานวงเงิน 1,945,500 ล้านบาท ตอนที่ 13 มีบริษัท ส.เขมราฐ อินดัสตรี้ จำกัด รับงานวงเงิน 1,040,705,676 ล้านบาท และตอนที่ 14 มีบริษัท เอส เทค ซีวิล แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด รับงานวงเงิน 1,936,979,582 ล้านบาท ซึ่งสายบางปะอิน-นครราชสีมา แบ่งเป็น 40 ตอน เปิดประมูลในปี 2559 ไปแล้ว 25 ตอน โดยเหลืออีก 21 ตอน จะทยอยเสนอ ครม.ขออนุมัติลงนามสัญญาไม่เกิน ก.ย.นี้ ส่วนอีก 15 ตอน ดำเนินงานงบปี 2560 จะเริ่มออก TOR ได้ในต้นเดือน ก.ย. 59 ลงนามสัญญาภายในสิ้นเดือน พ.ย. 59 สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. วงเงิน 59,120 ล้านบาท แบ่ง 25 ตอน ปี 2559 ประมูลไปแล้ว 9 ตอนจะเสนอ ครม.ใน ก.ย.เพื่อลงนามก่อสร้าง
ส่วนปี 2560 จะประมูลอีก 16 ตอน จะเริ่มออกTOR ได้ในต้นเดือน ก.ย. 59 ลงนามสัญญาภายในสิ้นเดือนพ.ย. 59 โดยสายนี้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมซึ่ง วันที่ 5 ส.ค.นี้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) จะพิจารณา คาดว่าจะเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมชุดใหญ่ในวันที่ 1 ก.ย. 59
สำหรับพื้นที่บริการทางหลวง สายบางปะอิน-โคราช มีที่พักริมทางหลวง (Rest Area) จำนวน 5 แห่ง ขนาดเล็กพื้นที่ 15-20 ไร่ มีบริการห้องน้ำ ร้านค้า และสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น ที่จอดรถ, สถานีบริการทางหลวง (Service Area) จำนวน 2 แห่ง จะเป็นขนาดกลางพื้นที่ 25 ไร่ (มีทุก 50 กม.) จะเพิ่มสถานีบริการน้ำมัน และร้านอาคาร และศูนย์บริการทางหลวง (Service Center) จำนวน 1 แห่ง ขนาดพื้นที่ 50 ไร่ จะอยู่บริเวณปากช่อง มีบริการครบวงจร โดยรูปแบบการพัฒนาเบื้องต้นจะให้เอกชนลงทุน มูลค่าก่อสร้างแห่งละ 300-400 ล้านบาท
ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา มีระยะทางประมาณ 196 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 84,600 ล้านบาท ประกอบด้วย วงเงินค่าก่อสร้าง 77,970 ล้านบาทและวงเงินค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 6,630 ล้านบาท เป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองจากกรุงเทพมหานคร-หนองคาย ซึ่งมีระยะทางรวมทั้งสิ้น 535 กิโลเมตร ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา จะเป็นเส้นทางที่เชื่อมโยงกรุงเทพมหานครกับศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านในบริเวณพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
โครงก่อสร้างฯ มีแนวเส้นทางเริ่มต้นที่บริเวณจุดเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 กับทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ที่บริเวณทางแยกต่างระดับบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นแนวเส้นทางใหม่ขนานไปกับทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) และทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) และมีจุดสิ้นสุดบรรจบกับทางเลี่ยงเมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 2 ผ่านพื้นที่ 3 จังหวัด 12 อำเภอ ได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา (อ.บางปะอิน อ.วังน้อย อ.อุทัย) (จ.สระบุรี) อ.หนองแค อ.เมืองสระบุรี อ.แก่งคอย อ.มวกเหล็ก (จ.นครราชสีมา) อ.ปากช่อง อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน อ.ขามทะเลสอ และ อ.เมืองนครราชสีมา รวมระยะทางประมาณ 196 กิโลเมตร
สำหรับการก่อสร้างแบ่งเป็น 2 ช่วง ใน 2 รูปแบบ ได้แก่ ช่วงที่ 1 ก่อสร้างเป็นทางหลวงพิเศษขนาด 6 ช่องจราจร จากบางปะอิน (กม. 0+000) ถึง อ.ปากช่อง (กม. 103+000) ระยะทาง 103 กิโลเมตร และ ช่วงที่ 2 ก่อสร้างเป็นทางหลวงพิเศษขนาด 4 ช่องจราจร จาก อ.ปากช่อง (กม. 103+000) ถึง นครราชสีมา (กม. 196+000) ระยะทาง 93 กิโลเมตร โดยมีรูปแบบการก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นทางระดับพื้น แต่จะมีทางยกระดับ 4 ช่วง ได้แก่ ช่วงทางเลี่ยงเมืองสระบุรี (ระหว่าง กม.40+300 - 47+000) ระยะทาง 7 กิโลเมตร, ช่วงพื้นที่สัมปทานปูนซีเมนต์ TPI (ระหว่าง กม.69+000 - 75+700) ระยะทาง 5.5 กิโลเมตร, ช่วงเขาตาแป้น (ระหว่าง กม.81+600 - 85+250) ระยะทาง 2.3 กิโลเมตร และช่วงเลียบอ่างเก็บน้ำลำตะคอง (ระหว่าง กม.125+400 - 143+040) ระยะทาง 17.3 กิโลเมตร รวมระยะทางที่ก่อสร้างเป็นทางยกระดับทั้งสิ้น 32.1 กิโลเมตร มีเขตแนวเขตทาง 70 เมตร ความกว้างช่องจราจร ช่องละ 3.60 เมตร ขนาด 4 ช่องจราจร และ 6 ช่องจราจร มีการควบคุมการเข้าออกแบบสมบูรณ์ (รั้วกั้น) ตลอดทาง โดยใช้ระบบเก็บค่าผ่านทางระบบปิด (บันทึกข้อมูล/รับบัตรที่ด่านขาเข้า และจ่ายค่าผ่านทางตามระยะที่ด่านขาออก) ซึ่งมีด่านจัดเก็บค่าผ่านทางทั้งหมด จำนวน 9 ด่าน ได้แก่ ด่านบางปะอิน ด่านวังน้อย ด่านหินกอง ด่านสระบุรี ด่านแก่งคอย ด่านมวกเหล็ก ด่านปากช่อง ด่านสี่คิ้ว และด่านนครราชสีมา มีจุดทางแยกต่างระดับที่เชื่อมต่อกับทางหลวง จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ ทางต่างระดับบางปะอิน ทางต่างระดับวังน้อย ทางต่างระดับหินกอง ทางต่างระดับสระบุรี ทางต่างระดับแก่งคอย ทางต่างระดับมวกเหล็ก ทางต่างระดับปากช่อง ทางต่างระดับสีคิ้ว และทางต่างระดับนครราชสีมา