"อาคม"สั่งจัดทัพแผนแม่บทมอเตอร์เวย์ 20 ปีสร้าง 21 สาย มูลค่า 2.1 ล้านล้านบาท คาดระดมทุนไทยแลนด์อินฟราฟันด์ลงทุนช่วง ศรีนครินทร์ -สุวรรณภูมิ 14 กม. วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ขณะที่ Action Plan ปี 60 เตรียมเปิดPPP สายนครปฐม-ชะอำ เอกชนลง 100% กว่า 8 หมื่นล.และเร่งศึกษา สายแหลมฉบัง- โคราช เชื่อมอีสาน-อีสเทิร์นซีบอร์ด ด้านทล.เผยระดมทุนไทยแลนด์อินฟราฟันด์ ต้องแก้กม.เก็บค่าธรรมเนียมฯ เหตุเป็นรายได้แผ่นดิน
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนา"เปิดมุมมองอนาคตการพัฒนามอเตอร์เวย์" ว่า แผนแม่บททางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ระยะ 20 ปี (2560-2579) มี 21สายทาง ระยะทางรวม 6,612 กม.มูลค่าวงเงินลงทุนรวมกว่า2.1 ล้านล้านบาท ซึ่งได้ปรับเพิ่มสายทางอีก 2,917กม. จากแผนแม่แผนบทมอเตอร์เวยบเดิมที่มีระยะทาง 4,150 กม.เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่เติบโตและการเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อรองรับ AEC ที่มีปริมาณการเดินทางด้วยรถยนต์ ทั้งการค้าและการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น โดยโครงการมอเตอร์เวย์ที่ได้รับอนุมัติแล้ว3 สายและอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง คือ พัทยา-มาบตาพุด ,บางปะอิน-นครราชสีมา และบางใหญ่-กาญจนบุรี จะแล้วเสร็จ ปี 2562
ทั้งนี้ กรมทางหลวงจะศึกษารายละเอียดความเหมาะสมต่างๆเพื่อจัดลำดับความสำคัญและรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมในแต่ละโครงการ โดยให้เน้น 4 เรื่องเพิ่มเติม คือ 1. การเชื่อมโยงโครงข่ายกับทางหลวง ,ทางหลวงชนบท,ถนนท้องถิ่น รวมถึงการเปิดเส้นทางเข้าสู่สนามบิน 2. สร้างเมืองใหม่ ซึ่งมอเตอร์เวย์เป็นระบบปิด ที่ถือเป็นจุดแข็งเพราะเข้า-ออกคนละทาง มีความสะดวก ปลอดภัย 3. มีการพัฒนาพื้นที่สองข้างทาง 4. รูปแบบการเงิน จะมีทั้งใช้ การระดมเงินจาก กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (ไทยแลนด์อินฟราฟันด์) ซึ่งจะนำมอเตอร์เวย์สาย 7 ( สายกรุงเทพ-บ้านฉาง ) และทางหลวงหมายเลข 9 สายถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ของกรมทางหลวง เข้ากองทุน รวมถึงแนวทางการเอกชนเข้าร่วมทุน (PPP) แบบ100% ตั้งแต่ก่อสร้าง ไปจนถึงการบริหารและซ่อมบำรุง (O&M) หรือ PPP เฉพาะงาน บริหารและซ่อมบำรุง (O&M) อย่างเดียว
โดยมอเตอร์เวย์ที่อยู่ในแผนปฎิบัติการคมนาคม (Action Plan) ปี 2560 คือ สายนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 119 กม. วงเงิน 80,600 ล้านบาทซึ่งกรมทางหลวง (ทล.) ได้ ศึกษาความเหมาะสมของโครงการ(Feasibility Study : FS) และสำรวจออกแบบเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯตามพ.ร.บ. PPP และออกพรฎ.เวนคืน โดยผลศึกษา PPP จะสรุปในปี 2559 และจะเสนอครม.ได้ในปลายปี 2559 และจะเร่งรัด อีก 2 สาย คือสายชลบุรี(ท่าเรือแหลมฉบัง)- นครราชสีมาระยะทาง 288 กม. เนื่องจากเป็นสายทางเชื่อมต่อภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับภาคตะวันออก รองรับการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด เพิ่มประสิทธิภาพโลจิสติกส์ การเคลื่อนย้ายแรงงานมีความสะดวก และ เพิ่มเติมช่วง ศรีนครินทร์ -สนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 12-14 กม. วงเงินลงทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งสายทางนี้คาดว่าจะใช้เงินจากไทยแลนด์อินฟราฟันด์ลงทุน โดยเป็นโครงข่ายเสริมซ้อนบนมอเตอร์เวย์สาย 7
แหล่งข่าวจากกรมทางหลวงกล่าวว่า ปัจจุบัน กองทุนเงินค่าธรรมเนียมผ่านทางมอเตอร์เวย์ มีเงินสะสมประมาณ 1.3 หมื่นล้าน โดยแต่ละปีจะมีรายได้จากค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์สาย7,9 ประมาณ 5 พันล้านบาทมีค่าใช้จ่ายประจำ 3 พันล้านบาท และจะใช้เงินกองทุนส่วนหนึ่งในการก่อสร้างมอเตอร์เวย์พัทยา-มาบตาพุด โดยเดิมมีการศึกษาว่ารายได้ของกองทุนใน 20 ปี จะมีประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท แต่เนื่องจาก มีการปรับการเก็บเงินเป็นระบบปิดตั้งแต่เดือนเม.ย.2559 และมีการก่อสร้างมอเตอร์เวย์สายพัทยา-มาบตาพุด ซึ่งคาดว่าจะมีรายได้ปีละ 800 ล้านบาท ทำให้ต้องศึกษาทบทวนประเมินรายได้ใหม่จะสรุปใน 6 เดือนจึงจะทราบว่า สาย 7,9 มีมูลค่าที่จะเข้าไทยแลนด์อินฟราฟันด์เท่าไร เพื่อเป็นหลักประกันรายได้กับนักลงทุนและประชาชนที่จะเข้ามาลงทุน เพราะสาย7,9 มีรายได้ที่ชัดเจนและมั่นคง
สำหรับสายสายชลบุรี(ท่าเรือแหลมฉบัง)- นครราชสีมานั้นจะแบ่งเฟสก่อสร้างก่อน ช่วงท่าเรือแหลมฉบัง-ปราจีนบุรี ระยะทาง 60 กม.เนื่องจากปริมาณจราจรสูง ซึ่งการศึกษาความเหมาะสมจะแล้วเสร็จในปีนี้และออกแบบในปี 2560 โดยเบื้องต้น กรมฯจะลงทุนเอง โดยใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์ เพราะเป็นสายทางต่อจากมอเตอร์เวย์สาย 7 ส่วนช่วงจากปราจีนบุรี-นครราชสีมา จะต้องผ่านเขาใหญ่ ซึ่งต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ก่อนเนื่องจากอาจจะต้องทำเป็นอุโมงค์ ระยะทางประมาณ 15 กม. เพื่อย่นระยะทาง
อย่างไรก็ตาม การนำรายได้มอเตอร์เวย์สาย7,9 เข้าระดมเงินจาก"ไทยแลนด์อินฟราฟันด์"นั้น ยังติดประเด็นข้อกฎหมาย ซึ่งจากการหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา เบื้องต้นพบว่าจะต้องแก้พระราชบัญญัติกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ยานยนตร์บนทางหลวงและสะพาน. พ.ศ. 2497 มาตรา6 แต่คาดว่า อาจจะถึงขั้นต้องออกพ.ร.บ.ใหม่ เพื่อให้ดำเนินการได้