อพท.3 จับมือชุมชนมุสลิมบ้านเนินพลับหวาน สมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก ดันเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลแห่งอาเซียน รองรับนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม พร้อมฝึกอาชีพชาวชุมชนชูอัตลักษณ์ท้องถิ่นเป็นจุดขาย หวังสร้างรายได้อย่างยั่งยืน
นายธิติ จันทร์แต่งผล รักษาการผู้จัดการ สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง (อพท.3) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า ได้ร่วมมือกับชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านเนินพลับหวาน เทศบาลเมืองหนองปรือ เตรียมความพร้อมในการพัฒนาชุมชนแห่งนี้ให้เป็นศูนย์กลางผู้จำหน่ายอาหารฮาลาลในพื้นที่พัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง และกลุ่มนักท่องเที่ยวที่นับถือศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะชาวอินโดนีเซียที่มาท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“จากสถิติตัวเลขนักท่องเที่ยวของกรมการท่องเที่ยว พบว่าในปี 2558 นักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลางเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยรวม 658,129 คน ส่วน นักท่องเที่ยวจากประเทศอินโดนีเซียมีจำนวน 469,266 คน ขณะที่ 5 เดือนแรกของปี 2559 นักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลางมีจำนวน 275,283 คน เพิ่มขึ้น 9.55% นักท่องเที่ยวจากอินโดนีเซียมีจำนวน 205,764 คน เพิ่มขึ้น 9.53% โดยเมืองพัทยาถือเป็นเดสติเนชันลำดับต้นๆ ที่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ต้องการเดินทางไป”
ทั้งนี้ อพท.3 จะเน้นฝึกอบรมชุมชนในเรื่องให้ความรู้ด้านการทำอาหารไทยและต่างชาติที่ถูกต้องตามหลักการประกอบอาหารของชาวมุสลิม วิธีทำอาหารที่ถูกสุขลักษณะ กระบวนการจัดหาวัตถุดิบ การขนส่ง จนถึงการปรุงอาหาร รวมถึงวิธีการบรรจุภัณฑ์ ซึ่งจะพัฒนาให้ได้มาตรฐาน และได้ติดต่อกับคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทยประจำจังหวัดชลบุรี เพื่อพิจารณาให้การรับรองมาตรฐานอาหารฮาลาล
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือกับสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก สนับสนุนให้โรงแรมในพื้นที่พัทยาและพื้นที่เชื่อมโยงประมาณ 40 แห่ง เรียนรู้การจัดครัวอาหารฮาลาลให้ได้มาตรฐานตามหลักการประกอบอาหารของชาวมุสลิมด้วย คาดว่าจะเริ่มได้ในราวปลายเดือนกรกฎาคมนี้
สำหรับการฝึกอาชีพ อพท.3 ได้สนับสนุนการฝึกอบรมประกอบอาชีพให้แก่ชุมชนดังกล่าว เช่น สอนการตัดเย็บเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ เด็กหญิง เด็กชาย การตัดเย็บหมวกสำหรับสุภาพบุรษ (กะปิเยาะ) และผ้าคลุมผมสำหรับสตรี (ฮิญาบ) โดยได้เชิญอาจารย์ผู้สอนจากภาคใต้ซึ่งเป็นแหล่งต้นกำเนิดทางวัฒนธรรมมาเป็นครูผู้สอน รวมถึงการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ที่ทำจากหนังแกะ ได้แก่ กระเป๋า เข็มขัด หมวก
ในส่วนของชุมชนบ้านหนองปรือซึ่งมีจุดเด่นเรื่องการแสดงโขน การทำหัวโขน ประเพณีตีกลองยาว ลิเก อาหารพื้นถิ่น ในชุมชนมีอาชีพทำนาเป็นหลัก และในชุมชนยังมีพิพิธภัณฑ์บ้านโบราณ โดย อพท.3 จะร่วมมือกับชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านหนองปรือ เทศบาลเมืองหนองปรือ ฟื้นฟูอัตลักษณ์ของท้องถิ่นเป้าหมายเผื่อผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เรียนรู้วิถีชีวิต ประเพณี และวัฒนธรรมท้องถิ่น ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการเรียนรู้ ซึ่งมีการศึกษาดูงานด้านการบริหารจัดการชุมชนในพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ ลานวัฒนธรรมบ้านตะเคียนเตี้ย และตลาดจีนโบราณบ้านชากแง้ว ที่เป็นตลาดตอนเย็นทุกวันเสาร์ เป็นต้น รวมทั้งการอบรมด้านการบริหารชุมชน นักสื่อความหมายด้านการท่องเที่ยว
“อพท.ต้องการสร้างความพร้อมให้แก่ชุมชนในการผลิตสินค้าด้านการท่องเที่ยวให้สามารถจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่ เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน และแสดงอัตลักษณ์ของชุมชน รวมถึงการสร้างความพร้อมในมาตรฐานการบริการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนในการรองรับนักท่องเที่ยวและการแข่งขันที่จะเกิดมีขึ้นอย่างรุนแรงภายหลังเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN ECONOMIC COMMUNITY : AEC) เพราะเมืองพัทยาเป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง กลุ่มนักท่องเที่ยวที่นับถือศาสนาอิสลาม และกลุ่มที่มีความสนใจอัตลักษณ์ความเป็นไทย” นายธิติกล่าว