xs
xsm
sm
md
lg

ความเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่เมื่อ “วันฮารีรายอ อิดิ้ลฟิตตรี” ที่แผนดินสตูลจุดตั้ง “ท่าเรือน้ำลึกปากบารา”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

   

คลิปภาพเหตุการณ์ 1 ใน 2 ปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในวันฮารีรายอ อิดิ้ลฟิตตรี ณ มัสยิดแห่งหนึ่ง บนแผ่นดินที่รัฐบาลกำหนดเป็นหมุดหมายให้ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา
 
เรื่อง/ภาพ  มบูรณ์  คำแหง  เลขาธิการ กอ.อพช.ใต้
------------------------------------------------------------------------
 
 
ภายหลังรัฐบาลอนุมัติงบประมาณของรัฐบาล 120 ล้านบาท ผ่านกระทรวงคมนาคม เพื่อให้กรมเจ้าท่า ได้จัดจ้างเอกชนอย่างน้อย 2 บริษัทเดินหน้าก่อสร้าง “โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา” ซึ่งจะเป็นแท่งคอนกรีตขนาดมหึมายาวกว่า 1 กม. ตั้งตระหง่านอยู่กลางทะเลในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ระหว่างเกาะตะรุเตา กับชายหาดปากบาราที่ ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล จนทำให้กลุ่มสนับสนุนที่ไม่กล้าออกหน้าออกตามาก่อน กลับได้รวมตัวกันคึกคักอย่างผิดสังเกต
 
โดยได้มีการจัดตั้ง “ศูนย์ประสานงาน” ในพื้นที่ เพื่อเป็นจุดรวมของกลุ่มสนับสนุนอย่างน่าจับตายิ่ง?!
 
ในจำนวนแก่นแกนตั้งศูนย์ประสานงานเหล่านี้ ปรากฏว่า มี “ผู้นำศาสนา” รวมอยู่ด้วยหลายคน ไม่ว่าจะเป็นระดับโต๊ะอิหม่าม รองประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัด โต๊ะครู อาหมีด หรือผู้นำกลุ่มดาว๊ะ เป็นต้น ซึ่งได้ยื่นมือไปจับกับ “หัวคะแนนนักการเมือง” คนสำคัญของทั้ง 2 พรรคใหญ่ที่ช่วงชิงการนำกันในพื้นที่
 
ทั้งที่ในความเป็นจริง กลุ่มประชาชนจำนวนมากที่คัดค้านการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ได้เคยรวมตัวเคลื่อนไหวอย่างคึกคักมาต่อเนื่อง แม้เวลานี้ก็ยังยืนยันที่จะเดินหน้าคัดค้านอย่างถึงที่สุดต่อไป
 
จึงเป็นเหตุผลให้เกิดผลสะเทือนภายใน “สังคมมุสลิม” ของ จ.สตูล ระลอกใหญ่ โดยเฉพาะการสั่นไหวดุจคลื่นสึนามิในพื้นที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน!!
 
ต้น พ.ค.2559 นายนาวี พรมทรัพย์ คนสนิทนักการเมืองใหญ่ในพื้นที่ ซึ่งทำตัวเป็นแกนนำฝ่ายสนับสนุนโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารามาตลอด ได้นำตัวแทน กรมเจ้าท่า ร่วมกับ บริษัท เอที คอนซัลแตนท์ จำกัด และ บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ เมแนจเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็น 2 บริษัทที่ปรึกษาที่รับงานจัดทำโครงการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพท่าเรือน้ำลึกปากบารา (EHIA) ด้วยงบประมาณ 120 ล้านบาท เข้าพบผู้ว่าฯ และหัวหน้าส่วนราชการ จ.สตูล ระหว่างการประชุมประจำเดือน เพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์ และขั้นตอนการดำเนินงานโครงการ
 
โดยคณะแจ้งต่อทาง จ.สตูล ว่า นับจากนี้ไปจะใช้เวลา 1-2 ปี เพื่อทำการศึกษา EHIA โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราให้แล้วเสร็จ ซึ่งมีกระบวนการสำคัญคือ การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสีย 3 ครั้ง หรือเรียกสั้นๆ ว่าเวที ค.1, ค.2 และ ค.3 ตอนนี้อยู่ระหว่างเตรียมการ คาดว่าจะจัดเวที ค.1 ได้หลังรอมฎอน หรือเดือนถือศีลอดของมุสลิมไปแล้ว
 
เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนเข้าพบผู้ว่าฯ ได้มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มสนับสนุนอย่างผิดปกติ เช่น การจัดเวทีให้ข้อมูลและจัดตั้งมวลชนฝ่ายหนุนกระจายไปในหลายพื้นที่ รวมถึงการขึ้นไปป้ายไวนิลตามจุดต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ได้ใช้เครือข่ายหัวคะแนนของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ อันมีการให้ประโยชน์ตอบแทนตามแบบฉบับที่ถนัด พร้อมกันนี้ ได้เช่าอาคารพาณิชย์ 2 ชั้น ใน อ.ละงู ทำสำนักงาน และเป็นศูนย์ประสานงานด้วย
 
ขณะที่แก่นแกนสำคัญอย่าง “นายนาวี พรมทรัพย์” มักจะกล่าวอ้างต่อหน้าสาธารณชนเมื่อสบโอกาสว่า ค่าใช้จ่ายทั้งหมดเป็นเงินส่วนตัว?!
 
ทั้งที่เป็นที่ทราบกันดีของคนสตูล ว่า แม้จะเคยเป็นนักเมืองท้องถิ่นที่ได้เป็นถึง ส.อบจ.สตูล มาก่อน แต่ระยะหลังกลับห่างหายจากแวดวงการเมืองไปนาน เพราะลงสนามไหนก็ไม่เคยได้รับการเลือกตั้ง รวมถึงเหตุผลทางทางเศรษฐกิจที่เป็นข้อจำกัดให้ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอื่นๆ มาโดยตลอด
 
การกลับมาออกตัวอีกครั้งในโอกาสรัฐบาลทุ่มงบประมาณเดินหน้าโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราถึง 120 ล้านบาท ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจยิ่ง และสังคมสตูล คงต้องจับตากันใกล้ชิดต่อไป
 
เนื่องเพราะมีการระดมหัวคะแนน และลิ่วล้อนักการเมืองจาก 2 พรรคใหญ่มาเป็นแกนนำสนับสนุนโครงการ และในจำนวนนั้นก็มีการดึงเอาผู้นำศาสนาจำนวนมากมาร่วมด้วย จึงเห็นถึงความสมานฉันท์ปรองดองของกลุ่มผู้ร่วมผลประโยชน์เหล่านี้
 
ต้องจัดว่าเป็นอุบายการเมืองที่แยบยลยิ่ง เพราะในขณะที่การเมืองกระแสหลักถูกจำกัดบทบาทภายใต้โอบของรัฐบาล คสช.เวลานี้ แต่กลุ่มก๊วนการเมืองใน จ.สตูล กลับสามารถเคลื่อนไหวได้อิสระ ด้วยการใช้เครือข่ายผ่านกลุ่ม หรือชมรมต่างๆ ที่มีอยู่ แถมยังสามารถเกี่ยวร้อยเอาบรรดาผู้นำศาสนามาร่วมขบวนได้อย่างแนบสนิทด้วย
 

 
ในขณะที่กลุ่มคัดค้านโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ซึ่งมีมวลชนหลักอยู่ใน และรอบๆ พื้นที่อ่าวปากบารา หลังเปลี่ยนผ่านรัฐบาลต้องสงบปากสงบคำมาระยะหนึ่ง แต่เมื่อเป็นที่แน่ชัดว่ารัฐบาลทอปบูตมีนโยบายให้เดินหน้าสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ณ เวลานี้ก็คงต้องกล้าที่จะกลับมาเคลื่อนไหวคึกคักอีกครั้งเช่นกัน
 
ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ การก่อตัวของคนรุ่นใหม่ที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มสองล้อรักษ์บ้านเกิด” ได้ประกาศตัวว่าต้องการสื่อสารกับสังคมคนสตูลให้หันมาดูแลรักษาทะเล โดยเฉพาะชายหาดรอบๆ อ่าวปากบารา ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ พวกเขายอมไม่ได้ที่จะให้สร้างท่าเรือน้ำลึก เพราะไม่ใช่แค่จะสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมมโหฬารเท่านั้น ชาวประมงพื้นบ้านก็จะสูญสิ้นอาชีพ ถือเป็นการทำลายแหล่งอาหารทะเลสำคัญมากเลยทีเดียว
 
เวลานี้กลุ่มสองล้อรักษ์บ้านเกิด ได้เชิญชวนผู้คนไปเที่ยวอ่าวปากบารา ให้ร่วมกันทำกิจกรรมที่แสดงถึงความหวงแหนทะเลทุกเย็นวันอาทิตย์ ด้วยการจัดขบวนเก็บขยะตลอดชายหาด และมีกิจกรรมอื่นๆ ร่วมด้วยตามตามสถานการณ์เหมาะสม และอีกไม่นานอาจจะมีการเคลื่อนขบวนไปเชื้อเชิญคนสตูลทั่วทั้งจังหวัด 
 
จากปรากฏการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ ณ เวลานี้มีผู้คนจำนวนมากตั้งคำถามแบบดังกังวานต่อบรรดา “ผู้นำศาสนา”ที่เห็นแก่ผลประโยชน์เฉพาะหน้าว่า  เป็นการเหมาะสมแล้วหรือที่พวกเขาใช้สถานะของความเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของพี่น้องมุสลิมไปเป็นเครื่องมือให้แก่กลุ่มนักการเมือง และกลุ่มทุนใหญ่ เพื่อชักชวนให้บรรดามะหมูม หรือผู้ตามทางศาสนาเข้ามาสนับสนุนโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา
 
และคำถามนี้ยังดังก้องไปถึงองค์กรหลักทางศาสนาอย่าง “คณะกรรมการอิสลาม จ.สตูล” ด้วยว่า เป็นผู้อยู่เบื้องหลังของกลุ่มผู้นำศาสนาเหล่านี้ด้วยหรือไม่?!
 
เนื่องเพราะที่ผ่านมา โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา เป็นที่พิสูจน์ชัดแล้วว่าจะสร้างมหันตภัยให้แก่คน จ.สตูล อย่างใหญ่หลวง ยิ่งไปกว่านั้นมีคำสอนตามคัมภีร์อัลกุรอานมากมายที่กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ เช่น ความเข้าใจเรื่องพระผู้สร้างที่มีหัวใจสำคัญว่า ธรรมชาติทั้งปวงล้วนเกิดขึ้นด้วยความประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าทั้งสิ้น ซึ่งประชาชาติมุสลิมทุกคนจะต้องตระหนัก และเห็นคุณค่า และจะต้องช่วยกันดูแลรักษาการใช้ประโยชน์ในทางที่ไม่อธรรมต่อหน้าแผ่นดิน และที่สำคัญยังได้สั่งสอนให้บรรดาผู้นับถือทั้งหลายต้องช่วยกันรักษาหน้าแผ่นดินไว้ให้ลูกหลานได้ใช้ประโยชน์อย่างยืนนาน
 
และเชื่อว่าในทัศนะของนักการอิสลามเองก็ต่างเข้าใจร่วมกันว่า ใครที่ไม่เชื่อฟังในแนวทางดังกล่าวก็จะถูกตั้งข้อสงสัยทันที และต่อความละเอียดอ่อนในเรื่องความคิด ความเชื่อทางนี้ก็ได้เป็นประเด็นถกเถียงกันในสังคมมุสลิมในพื้นที่ โดยเฉพาะหมู่บ้านที่จะกลายสภาพพื้นที่เป็นท่าเรือน้ำลึกปากบาราอย่างหนีไม่พ้น และต่อเรื่องนี้จึงเป็นความละเอียดอ่อนที่ผู้นำในสังคมอิสลามจะต้องพึงระวัง เพื่อไม่ให้นำไปสู่ความแปลกแยกอย่างไม่จำเป็น
 

 
มีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ และถือว่ามีความสำคัญต่อพี่น้องมุสิลมใน จ.สตูล อย่างมาก กล่าวคือ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 ก.ค.2559 อันเป็นวันสิ้นสุดรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอด และถือเป็นวันฮารีรายอ อิดิ้ลฟิตตรี ซึ่งบรรดาลูกหลานที่อยู่ห่างไกลต่างกลับมาเยี่ยมบ้าน และร่วมเฉลิมฉลองกับครอบครัวอย่างพร้อมเพรียง
 
เป็นประเพณีที่หลังละหมาด และมีคุตบะ หรือเทศนาธรรมเสร็จสิ้นช่วงเช้า ผู้นำศาสนาของแต่ละมัสยิดจะสรุปเรื่องราวสำคัญๆ ในรอบปี โดยเชื่อมโยงให้เกิดสำนึกในความโปรดปราณขององค์อัลเลาะห์ ความรัก ความกตัญญูต่อพ่อแม่ และพี่น้องสายศรัทธาแห่งอิสลาม รวมถึงการยกคำสอนที่สอดคล้องต่อสถานการณ์มาให้บรรดามะหมูมที่เข้ามาละหมาดได้รับรู้ เพื่อเตือนสติซึ่งกันและกัน
 
หากแต่วันฮารีรายอปี 2559 นี้ ได้มีการนำเรื่องความขัดแย้งของ “โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา” เข้าไปพูดกันในช่วงละหมาดเช้าอย่างน้อยถึง 2 มัสยิดใน อ.ละงู จ.สตูล!!
 
โดยทั้ง 2 มัสยิดกลับมีความแตกต่างกันในเนื้อหา กล่าวคือ มัสยิดหนึ่งที่มี “โต๊ะอิหม่าม” เป็นแกนนำสนับสนุนโครงการ ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งหลังอ่านคุตบะ ด้วยเหตุผลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “มูนาฟิก” หรือ “คนกลับกรอก” สร้างความตะลึงงันให้แก่บรรดามะหมูมที่เข้าร่วม อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นมีการตั้งรองประธานกรรมการมัสยิดมารักษาการแทน
 
ขณะที่อีกมัสยิดหนึ่ง หลังเสร็จสิ้นการละหมาด และอ่านคุตบะโดย “ผู้นำศาสนา” ที่เป็น “คนรุ่นใหม่” ได้มีการกล่าวถึงความเลวร้ายของโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ซึ่งจะสร้างผลกระทบต่อชุมชนอย่างยากจะหลีกพ้น พร้อมมีการถามถึงท่าทีของคนทั้งมัสยิดว่าจะเอาอย่างไรต่อโครงการนี้ ปรากฏว่า ทั้งมุสลิมะฮ์และมุสลิมีนต่างร่วมกัน “ยกมือ” และ “ประกาศก้อง” อย่างพร้อมกันว่า “ไม่เอาโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา” อย่างเด็ดขาด
 
นี่คือ “พลัง” ของพี่น้องมุสลิมชาวสตูลกลุ่มหนึ่ง ซึ่งได้ร่วมกันแดสงออกจนเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในวันฮารีรายอถึงใน “มัสยิด” สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ของประชาชาติมุสลิมทั้งปวง โดยไม่จำเป็นต้องจัดให้มีการลงประชามติแต่อย่างใด?!
 
นี่คือความแตกต่างของ 2 มัสยิดที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ปักหมุดหมายให้ก่อสร้าง “ท่าเรือน้ำลึกปากบารา” ในย่านเดียวกัน ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน?!
 
สื่อสะท้อนให้เห็นว่า การประกาศนโยบายของรัฐบาล คสช.ให้เดินหน้า “โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา” อย่างไม่สนใจไยดีในเสียงทักท้วงของชุมชน ถือเป็นการรุกรานของผู้ที่ไม่เข้าใจในความหมายของคำว่า “หน้าแผ่นดินที่ต้องรักษาเพื่อพระผู้เป็นเจ้า” ปรากฏการณ์ทั้ง 2 กรณีนี้กำลังบ่งบอกอะไรบางอย่างที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต?!?!
 


 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น