“อาคม” ทดลองนั่ง Shuttle Bus เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสีม่วงกับสีน้ำเงิน จากเตาปูนไปบางซื่อบนสภาพจราจรจริง วิ่ง 7 นาทีตามแผน พอใจภาพรวม Feeder เชื่อมสีม่วง กับ MRT สีน้ำเงิน แก้รอยต่อ 1 สถานี กำชับ รฟม.ติดป้ายบอกทางที่ชัดเจน และสั่ง ขบ.-ขสมก.-ร.ฟ.ท.เพิ่มเจ้าหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกเต็มที่ ด้านประธานบอร์ด รฟม.หาช่อง กม. แยกงาน 1 สถานี ทำ MOU เจรจา BEM เร่งเปิดต้นปี 60
วันนี้ (27 ก.ค.) เวลา 07.00 น. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ร่วมทดลองระบบขนส่งเสริม (Feeder System) วิ่งเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สีม่วง) จากสถานีเตาปูน และสถานีบางซ่อน กับรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) ที่สถานีบางซื่อ ระยะทางประมาณ 7 กม. ก่อนสายสีม่วงจะเปิดให้บริการจริงในวันที่ 6 ส.ค. 2559 โดยระบบเชื่อมต่อดังกล่าว รฟม.จัดรองรับผู้โดยสารโดยใช้บริการฟรี
นายอาคมได้ทดลองนั่งรถเมล์ปรับอากาศขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จากสถานีเตาปูน-บางซื่อ มีเส้นทางจากสถานีรถไฟฟ้าเตาปูน ผ่านแยกประชาชื่น แยกสะพานสูง เข้าสู่สถานีบางซื่อ ใช้เวลาประมาณ 7 นาที ส่วนขากลับ (ช่วงเช้า 06.00-09.00 น.) รถเมล์จะใช้เส้นทางจากบางซื่อ ผ่านแยกเทิดดำริ แยกสะพานแดง แยกประชาชื่น ใช้เวลาประมาณ 30 นาที จากนั้นได้นั่งรถไฟฟ้าสายสีม่วง จากสถานีเตาปูนไปยังสถานีบางซ่อน และใช้ Sky Walk ไปยังรถไฟชานเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เพื่อทดลองนั่งรถไฟจากสถานีบางซ่อนไปยังบางซื่อ ซึ่งไปกลับใช้เวลาประมาณ 15 นาที
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากการทดลองนั่งรถเมล์ และรถไฟที่ทาง รฟม.ได้ประสานกับ ขสมก.และ ร.ฟ.ท.ไว้รองรับการเชื่อมต่อของผู้โดยสารระหว่างสถานีเตาปูน/บางซ่อน (สายสีม่วง) กับสถานีบางซื่อ (สายสีน้ำเงินเฉลิมรัชมงคล) บนสภาพการจราจรจริงในช่วงเวลาประมาณ 07.00 น.ซึ่งถือว่าเป็นช่วงจราจรคับคั่ง ภาพรวมน่าพอใจ โดยรถเมล์จากเตาปูนไปบางซื่อ ระยะทางประมาณ 1 กม. ใช้เวลา 7 นาที ส่วนขากลับเนื่องจากเป็นวันเวย์จึงต้องวนอ้อมระยะทางประมาณ 5 กม. แต่ไม่น่ามีปัญหาเพราะช่วงเช้าผู้โดยสารจะเข้ามาเมืองโดยใช้ขาไปจากเตาปูนไปบางซื่อเป็นส่วนใหญ่ ส่วนช่วงเย็นไม่มีวันเวย์ ขากลับจากบางซื่อไปเตาปูนใช้เวลาประมาณ 7 นาทีซึ่งจะสอดคล้องกับผู้โดยสารที่จะใช้ขาออกเมืองเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจัดรถเมล์ไว้ 15 คัน วิ่งชุดละ 3 คัน รองรับได้คันละ 80 คนหรือเที่ยวละ 240 คน วิ่งตั้งแต่ 06.00-24.00 น. บริการทุกวัน
ส่วนอีกทางเลือกคือ ใช้บริการรถไฟ ซึ่งจะต้องลงที่สถานีบางซ่อนและเดินต่อประมาณ 100 เมตรมาต่อขบวนรถดีเซลราง จากบางซ่อนถึงบางซื่อใช้เวลา 7 นาที ขบวนละ 3 ตู้ วิ่งรวม 56 ขบวน โดยช่วงเช้า เวลา 06.00-09.30 น. จำนวน 24 ขบวนและเย็น 16.30-20.00 น. จำนวน 32 ขบวน รองรับได้ 250 คน/เที่ยว บริการทุกวันจันทร์-เสาร์ ซึ่งประเมินว่าจะเพียงพอต่อการรองรับการเดินทางดังกล่าว โดยได้กำชับให้ ขสมก.และ ร.ฟ.ท.จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอ และให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จัดเจ้าหน้าที่เพื่ออำนวยความสะดวกรถโดยสารและรถส่วนตัวที่เข้ามารับส่งที่สถานีเตาปูน, บางซ่อน, บางซื่อ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาจราจร พร้อมกันนี้ให้ รฟม.ติดป้ายบอกทางที่ประตูทางออกรถไฟฟ้าสีม่วงและสีน้ำเงินในการใช้รถ Shuttle Bus เชื่อมต่อ
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูนนั้น มีระยะทางประมาณ 23 กม. มี 16 สถานี ซึ่งสามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 50,000 คน/ชม. หรือมากกว่า 400,000 คน/วัน คาดว่าในปีแรกที่เปิดให้บริการจะมีผู้โดยสารประมาณ 200,000 คน และจะเพิ่มเป็น 400,000 คนในปี 2562 โดยคาดว่าเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วนจะมีผู้โดยสารใช้การเชื่อมต่อระหว่างสถานีเตาปูน-บางซื่อ ถึง 6,000 คน/ชม.
หาช่องทาง กม.แยกงาน 1 สถานีทำ MOU ร่วม BEM วางระบบเร่งเปิดเดินรถต้นปี 60
พลเอก ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. กล่าวว่า ในการเดินรถเชื่อมต่อ 1 สถานี ระหว่างสถานีเตาปูน ของสีม่วงสายฉลองรัชธรรม กับสถานีบางซื่อ ของสีน้ำเงินสายเฉลิมรัชมงคลนั้น รฟม.จะเร่งดำเนินการเชื่อมต่อให้เร็วที่สุด โดยอยู่ระหว่างพิจารณาข้อกฎหมายในการให้สิทธิ์ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เข้ามาดำเนินการติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณได้ก่อนอย่างไรที่จะไม่ขัดข้อกฎหมาย โดยประเมินว่าอาจจะแยกงาน 1 สถานีออกมาทำเป็นข้อตกลง หรือ MOU กับ BEM โดยต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบและเจรจากับ BEM ให้วางระบบ 1 สถานีก่อน ซึ่งจะต้องพิจารณาประเด็นที่หากการเจรจากับ BEM ในส่วนของการเดินรถสีน้ำเงินส่วนต่อขยายไม่สำเร็จ จะสงวนสิทธิ์การฟ้องร้องหรือการโอนสิทธิ์เดินรถให้คู่สัญญาใหม่ด้วย
ทั้งนี้ คำสั่งตามมาตรา 44 เรื่องการเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (บางซื่อ-ท่าพระและหัวลำโพง-บางแค) นั้น ขั้นตอนคือ บอร์ด รฟม.จะพิจารณากรอบเจรจาใน 30 วัน จากนั้นเสนอ รมว.คมนาคมพิจารณาใช้เวลา 15 วัน จากนั้นให้คณะกรรมการมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 ของสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย และคณะกรรมการมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2556 ซึ่งเป็นของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (สายเฉลิมรัชมงคล) ประชุมร่วมกันภายใน 30 วัน และเจรจากับ BEM อีก 30 วัน ได้ข้อยุติจึงจะส่งร่างสัญญาให้อัยการตรวจสอบ และเสนอ ครม.อนุมัติ คาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะเสร็จสิ้นปลายปี 2559 จึงจะลงนามสัญญากับ BEM ได้ จากนั้นคาดว่าต้นปี 2560 จึงจะเริ่มงาน โดยการวางระบบอาณัติสัญญาณของ 1 สถานีจะใช้เวลา 12 เดือน อาจจะเร่งรัดให้เป็น 6-7 เดือน จึงจะเปิดเดินรถประมาณกลางปี 2560 แต่หากแยกงาน 1 สถานีออกมาเป็น MOU เพื่อให้ BEM เข้าติดตั้งระบบได้ก่อนโดย ครม.เห็นชอบ MOU ใน ส.ค.จะพยายามเร่งรัด BEM คาดว่าจะเปิด 1 สถานีได้ในต้นปี 2560 ซึ่งเร็วขึ้น