xs
xsm
sm
md
lg

“กกร.” คาดหวังเห็นไทยมีการเลือกตั้งตามโรดแมปชี้รับหรือไม่รับร่าง รธน.ไม่กังวล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กกร.” คาดหวังที่จะเห็นการเลือกตั้งตามโรดแมปที่รัฐบาลประกาศไว้ แม้การลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ ไม่กังวล ยังคงการเติบโตเศรษฐกิจปีนี้ 3-3.5% เผยกังวลก่อการร้ายกระทบเศรษฐกิจโลกมากกว่า มองร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย


นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยหลังการรับฟังการบรรยายให้ความรู้ “สาระและประเด็นสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ” ในเวทีคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่จัดร่วมกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ บรรยายให้ความรู้ เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ว่า การลงประชามติรับร่างหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นเชื่อว่าคนส่วนใหญ่สนใจโรดแมปการเลือกตั้งของรัฐบาลมากกว่าซึ่งหากเป็นไปตามที่รัฐบาลกำหนดก็ไม่น่าจะมีผลกระทบใดๆ

“ต่างชาติเองก็คงไม่ได้สนใจร่างรัฐธรรมนูญ เป็นการตกลงกติกามากกว่า นักลงทุนต่างชาติก็ต้องปฏิบัติตามในการอยู่ร่วมกันในสังคมไทยอยู่แล้ว เขาก็คงรอโรดแมปมากกว่า แต่ถ้าปี 2560 ไม่มีการเลือกตั้งคงจะมีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นมากกว่า แต่เอกชนเชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมป อย่างไรก็ตาม จากการรับฟังครั้งนี้ทำให้เห็นภาพว่ารัฐธรรมนูญนี้มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย” นายเจนกล่าว

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากประเทศไทยมีการจัดการเลือกตั้งเกิดขึ้นจะช่วยลดแรงกดดันจากนานาชาติได้และจะทำให้ไทยมีความมั่นคงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้ไว้ว่าที่สุดจะมีการเลือกตั้งก็ทำให้เอกชนคงจะต้องติดตามเรื่องนี้ต่อไป ดังนั้น การจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจึงไม่มีผลกระทบระบุต่อเศรษฐกิจมากนัก หากแต่กังวลภัยก่อการร้ายที่จะกระทบเศรษฐกิจโลกมากกว่า

“รัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นฉบับใด เมื่อออกมาใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการก็คือ ช่วยให้ บ้านเมืองสงบ นโยบายเศรษฐกิจต่อเนื่องและสนับสนุนให้ภาคธุรกิจดำเนินธุรกิจไปได้ เพราะขณะนี้ประเทศไทยจะต้องแข่งขันกับประเทศอื่นด้วย ดังนั้น การทำงานร่วมกับระหว่างภาครัฐและเอกชนจะต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน” นายอิสระกล่าว

สำหรับข้อมูลที่ได้จากการสัมมนาในวันนี้ กกร.จะนำไปเผยแพร่แก่สมาชิกทั่วประเทศต่อไปเพื่อให้ไปออกเสียงลงประมามติร่างรัฐธรรมนูญวันที่ 7 ส.ค. โดยสมาชิกแต่ละคนจะพิจารณาด้วยตัวเองว่าจะออกไปใช้สิทธิออกเสียง รับหรือไม่รับร่างธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม มีความเป็นห่วงว่าคนร่วมหนุ่มสาว อาจจะยังไม่มีการรับรู้ในเรื่องนี้เท่าที่ควร ในขณะที่คนหนุ่มสาวจะเป็นผู้ที่ดูแลประเทศไทยต่อไปในอนาคต

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การมาชี้แจงเอกชนเพื่อที่จะให้เข้าใจถึงจุดประสงค์ของร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเชื่อมั่นว่าฉบับที่จะลงประชามตินี้มีความเหมาะสมกับประเทศและวิถีคนไทยในปัจจุบันและอนาคตเพราะไม่ได้ระบุไว้ตายตัวจะต้องทำแบบใดเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้องไปดำเนินการต่อ อย่างไรก็ตาม ตนมองมองในเรื่องประชามติ 2 เรื่อง คือ 1. ประชาชนมีการตื่นตัวมากขึ้น 2. รู้สึกว่าตนเองถูกรุมอย่างไม่เป็นธรรมซึ่งกำลังคิดว่าจะทำอย่างไร เพราะมีคนคนหนึ่งออกมาในสถานะหนึ่งว่าไม่รับ แต่อีกวันก็ออกมาอีกสถานะหนึ่ง เสมือนหนึ่งให้ชาวบ้านเข้าใจผิดคิดว่ามีคนทยอยออกมาไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น