xs
xsm
sm
md
lg

โฆษณาออนไลน์ไทยโตอันดับ 2 ของอาเซียน คาดปี 63 มูลค่าตลาดทะลุ 3 พันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางณฐพร พันธุ์อุดม หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี บริษัท PwC ประเทศไทย
PwC เผยตลาดโฆษณาออนไลน์ไทยโตแรงติดอันดับ 2 ของอาเซียน คาดมูลค่าตลาดโฆษณาออนไลน์ไทยปี 63 ทะลุ 3 พันล้านบาท เหตุใช้งบน้อย แต่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากกว่า ขณะที่มูลค่าการใช้จ่ายโดยรวมผ่านอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงของไทยแตะ 4 แสนล้านบาท ห่วงธุรกิจสิ่งพิมพ์ประเภทนิตยสาร-หนังสือพิมพ์ซบเซา โตติดลบในอีก 5 ปีข้างหน้า พร้อมเปิด 5 เทรนด์สร้างอุตสาหกรรมสื่อฯ โฉมใหม่

นางณฐพร พันธุ์อุดม หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี บริษัท PwC ประเทศไทย (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) หนึ่งในเครือข่ายบริษัทผู้ให้บริการด้านตรวจสอบบัญชี บริการให้คำปรึกษาด้านภาษีและบริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจรายใหญ่ของโลก เปิดเผยถึงผลสำรวจทิศทางอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงทั่วโลกระหว่างปี 2559-2563 (Global entertainment and media outlook 2016-2020) ว่า โฆษณาออนไลน์ (Internet Advertising) ยังเป็นธุรกิจที่เติบโตมากที่สุดในอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงของไทย

จากผลสำรวจพบว่า มูลค่าการใช้จ่ายผ่านโฆษณาออนไลน์ของไทยเติบโตอย่างรวดเร็วเป็นประวัติการณ์ โดยคาดการณ์ในปี 2563 มูลค่าการใช้จ่ายผ่านโฆษณาออนไลน์จะอยู่ที่ 3.1 พันล้านบาท เติบโต 117% จากคาดการณ์ปี 2559 ที่ 1.4 พันล้านบาท ขณะที่อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีของตลาดโฆษณาออนไลน์ไทยในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2559-2563) อยู่ที่ 22.5%

“ไม่น่าแปลกใจที่ตลาดโฆษณาออนไลน์ของไทยจะเติบโตอย่างโดดเด่นมากในช่วง 5 ปีต่อจากนี้ เพราะจำนวนคนไทยที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น จึงทำให้ธุรกิจต่างๆ หันมาสนใจทำโฆษณาผ่านตลาดนี้มากขึ้น เนื่องจากสื่อประเภทนี้ใช้งบน้อยกว่า แต่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะได้รวดเร็วและมากกว่าสื่ออื่น นอกจากนี้ลูกเล่นใหม่ๆ บนสื่อสังคมออนไลน์ เช่น การรับสื่อแบบ Live กำลังได้รับความนิยม เพิ่มความน่าสนใจให้กับตลาดและยังช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้าอีกด้วย” นางณฐพร กล่าว

*** คาดอนาคตครัวเรือนไทย 1 ใน 3 ใช้งานอินเทอร์เน็ต ***
จากข้อมูลของสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) พบว่า ปัจจุบันไทยมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต (Internet Users) จำนวนทั้งสิ้น 38 ล้านคน คิดเป็น 56% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และมีผู้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network Users) สูงถึง 41 ล้านคน โดย 3 อันดับเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่คนไทยนิยมสูงสุด ได้แก่ เฟ:บุ๊ก 92.1% ตามด้วย ไลน์ 85.1% และ กูเกิล 67%

อย่างไรก็ดี ตลาดโฆษณาออนไลน์ของไทยยังมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยผลสำรวจของ PwC ระบุว่า ปัจจุบันอัตราการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านสาย (Fixed-Line Broadband Penetration) อยู่ที่ 28% หากใน 5 ปีข้างหน้าธุรกิจโฆษณาทางอินเทอร์เน็ตมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยตามตัวเลขคาดการณ์ข้างต้น ในตอนนั้นอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตจะครอบคลุมมากกว่า 1 ใน 3 ของครัวเรือนไทยทั้งหมด

นอกจากนี้ หลังจากที่ผู้ประกอบการของไทยเริ่มทยอยเปิดให้บริการ 4G อย่างเต็มรูปแบบเมื่อต้นปี 2559 ในอัตราค่าบริการที่ใกล้เคียงกับระบบ 3G จะทำให้จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือความเร็วสูงเป็น 41.4% ของผู้ใช้บริการที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตบนมือถือทั้งหมด และผลักดันให้รายได้ในการให้บริการอินเทอร์เน็ตบนมือถือเพิ่มขึ้นจาก 2.1 หมื่นล้านบาทเป็น 3.2 หมื่นล้านบาทในปี 2563

*** โฆษณาออนไลน์ไทยโตอันดับ 2 ของอาเซียน ***
นางณฐพร กล่าวด้วยว่า หากเปรียบเทียบอัตราการเติบโตของมูลค่าการใช้จ่ายผ่านโฆษณาออนไลน์ของประเทศไทยกับบรรดาประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนแล้ว พบว่า ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยอยู่ในอันดับที่ 2 รองจากอินโดนีเซียที่มีอัตราเติบโตเฉลี่ยที่ 35.2% หรือคิดเป็นมูลค่า 1.15 แสนล้านบาท ตามด้วยอันดับ 3 คือเวียดนามที่เติบโตเฉลี่ย 18% อันดับ 4 ได้แก่ สิงคโปร์ที่เติบโตเฉลี่ย 15.5% อันดับ 5 ฟิลิปปินส์ที่เติบโตเฉลี่ย 14.8% และอันดับ 6 มาเลเซียที่เติบโตเฉลี่ย 13.9%

“ด้วยขนาดตลาดออนไลน์ของไทยที่ยังเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียน บวกกับความนิยมชมชอบสังคมออนไลน์ของคนไทย ทำให้ตลาดในบ้านเรายังมีศักยภาพในการเติบโตอีกมากในอนาคต”

แนวโน้มการเติบโตของตลาดโฆษณาออนไลน์ของประเทศไทยยังถือว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกับอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงของโลก โดย PwC คาดการณ์ว่า ใน 5 ปีข้างหน้า ตลาดโฆษณาออนไลน์โลกจะเติบโตเฉลี่ยที่ 11.1% ถือเป็นธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดเมื่อเทียบกับสื่อประเภทอื่น หรือคิดเป็นมูลค่าถึง 9.1 ล้านล้านบาทในปี 2563

ทั้งนี้ ภาพรวมการใช้จ่ายด้านสื่อและบันเทิงของไทยในช่วง 5 ปีข้างหน้าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 5% โดยคาดว่า มูลค่าการใช้จ่ายผ่านสื่อและบันเทิงของไทยในปี 2563 จะอยู่ราว 4 แสนล้านบาท โดยนอกจากธุรกิจโฆษณาออนไลน์และการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจะเป็นตัวหลักช่วยหนุนการเติบโตแล้ว ธุรกิจทีวีและวิดีโอยังเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ช่วยผลักดันยอดการใช้จ่ายในอนาคต คาดว่าในช่วง 5 ปีข้างหน้ามูลค่าตลาดนี้จะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 14.6% หรือคิดเป็นมูลค่าเกือบ 4.4 หมื่นล้านบาท โดยได้รับอานิสงส์หลักจากธุรกิจเคเบิ้ลทีวี หรือ ธุรกิจให้บริการโทรทัศน์ที่มีการเรียกเก็บค่าสมาชิก (TV Subscription)

*** ตลาดนิตยสารและหนังสือพิมพ์ไทยน่าห่วง ***
นางณฐพร กล่าวต่อว่า การเติบโตอย่างรวดเร็วของสื่อออนไลน์ทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อธุรกิจประเภทสิ่งพิมพ์อย่างมีนัยสำคัญไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ซึ่งจากผลสำรวจพบว่า อัตราการเติบโตของมูลค่าการใช้จ่ายโฆษณาผ่านนิตยสารและหนังสือพิมพ์ เฉลี่ยในช่วง 5 ปีข้างหน้านั้นติดลบ โดยคาดว่าอัตราเติบโตเฉลี่ยในช่วง 5 ปีของธุรกิจนิตยสารจะอยู่ที่ -0.6% หรือคิดเป็นมูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท ในปี 2563 ขณะที่อัตราเติบโตเฉลี่ยของธุรกิจหนังสือพิมพ์ไทยจะอยู่ที่ -0.5% หรือคิดเป็นมูลค่า 3.7 หมื่นล้านบาทในปี 2563 เช่นกัน

“ในช่วงปีที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ทางธุรกิจของนิตยสารและหนังสือพิมพ์ โดยผู้ประกอบการหลายรายนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการนำเสนอเนื้อหาผ่านแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ หรือย้ายจากการตีพิมพ์เป็นรูปเล่มมาเป็นแสดงผลบนเว็บไซต์มากขึ้น แต่บางรายที่ไม่สามารถปรับตัวได้ก็จำเป็นต้องปิดตัวลงไปพอสมควร” นางณฐพร กล่าว

*** จับตา 5 เทรนด์ เปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงโลก ***
จากผลศึกษาของ PwC พบว่า มี 5 เทรนด์สำคัญของโลกที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจของอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงทั่วโลก ซึ่งสื่อที่ปรับกลยุทธ์ได้ทันจะเป็นสื่อที่อยู่รอดและเติบโตได้อย่างยั่งยืนในอนาคต ได้แก่

1.ประชากรศาสตร์ (Demography) ในปี 2563 วัยรุ่นจะเป็นลูกค้ากลุ่มสำคัญที่จะขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริโภคที่มีอายุต่ำกว่า 35 ปีจะเป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายด้านสื่อและบันเทิงมากที่สุด เนื่องจากสามารถเข้าถึงสื่อได้ดีกว่ากลุ่มคนที่มีอายุมากกว่าและยังมีความพร้อมในการเปิดรับสื่อต่างๆ ในรูปแบบดิจิทัลให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมในการดำเนินชีวิต (Digital Behaviour) โดยส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้เป็นชนชั้นกลางและมีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอย

2.การบริโภค (Consumption) ด้วยช่องทางในการรับสื่อที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคสามารถเลือกรับชมสื่อที่มีเนื้อหาตรงกับความต้องการได้เองไม่ว่าบนโทรศัพท์มือถือ แท็ปเล็ต หรืออุปกรณ์รับชมอื่นๆ ที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ ด้วยเหตุนี้ในอนาคตเราจะเห็นการปรับตัวของกลุ่มผู้ให้บริการสื่อแบบดั้งเดิม (Traditional Media) หันมาให้บริการลูกค้าแบบหลายช่องทาง (Omni Channel) กันอย่างเต็มรูปแบบ ยกตัวอย่าง เช่น เปิดโอกาสให้ลูกค้าชมบางส่วนของภาพยนตร์ที่ต้องการสามารถกลับมาชมตอนจบในเวลาที่ต้องการ โดยไม่จำกัดช่องทางการรับชมไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์ แล็ปท็อป หรือสมาร์ทโฟน เป็นต้น

3.การแข่งขัน (Competition) ด้วยความที่เนื้อหายังคงเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเลือกซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภค ผู้ประกอบการธุรกิจสื่อและบันเทิงต้องมีความสามารถในการนำเสนอเนื้อหาที่มีทั้งความเป็นสากลและเข้ากับกระแสสังคมโลก (Globalisation) แต่ในขณะเดียวกันเนื้อหานั้นก็ต้องมีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาดภายในประเทศ โดยคำนึงถึงรสนิยมและวัฒนธรรมของผู้บริโภคเป็นหลัก

4.ภูมิศาสตร์ (Geography) ในอนาคตการเติบโตของตลาดจะย้ายฐานจากฝั่งตะวันตกมาตะวันออก โดยคาดการณ์ว่า ในปี 2560 รายได้จากบ็อกซ์ออฟฟิศของจีน (Box Office Revenue) จะเติบโตแซงหน้าตลาดสหรัฐอเมริกา ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงจะถือเป็นครั้งแรกของที่สหรัฐอเมริกาสูญเสียตำแหน่งเจ้าตลาดในกลุ่มอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิง

5.รูปแบบการดำเนินธุรกิจ (Business Models) ในระยะข้างหน้าผู้ให้บริการสื่อและบันเทิงอาจต้องประยุกต์ใช้ข้อมูลในการวางแผนทางการตลาดมากยิ่งขึ้น เช่น ต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า หรือแม้กระทั่งการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว มากไปกว่านั้นอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงจำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบในการดำเนินธุรกิจให้อยู่บนพื้นฐานของการสร้างความไว้วางใจจากผู้บริโภคเป็นหลักอีกด้วย



กำลังโหลดความคิดเห็น