รฟม.เตรียมประมูลสร้างท่าเทียบเรือพระนั่งเกล้าเชื่อมสถานีสายสีม่วง วงเงิน 90 ล้าน ล้มแผนใช้วิธีพิเศษ จ้าง “ซิโน-ไทย” หลังงานก่อสร้างสัญญา 2 เสร็จไปแล้ว ขณะที่ “เพาเวอร์ไลน์” ยังได้สิทธิ์รับงานปรับปรุงอาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) บริเวณแยกนนทบุรี 1 เพิ่มเป็น 10 ชั้น ชี้จำเป็นใช้รายเดิมเพราะต้องสร้างบนโครงสร้างเดียวกัน
นายภคพงษ์ ศิริกันทรมาศ รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเชื่อมต่อสถานีสะพานพระนั่งเกล้า รถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-เตาปูน) และท่าเรือพระนั่งเกล้า ว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติวงเงินดำเนินการ 90 ล้านบาทในการก่อสร้างท่าเทียบเรือพระนั่งเกล้าแล้ว คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.ได้พิจารณาให้ รฟม.ดำเนินการเปิดประมูลคัดเลือกผู้รับจ้างก่อสร้างใหม่ จากเดิมที่จะใช้วิธีพิเศษว่าจ้างบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้รับจ้างก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง สัญญา 2 (โครงสร้างยกระดับส่วนตะวันตก
ช่วงสะพานพระนั่งเกล้า-คลองบางไผ่) เนื่องจากเห็นว่าจะต้องก่อสร้างในพื้นที่เกี่ยวเนื่องกัน แต่เนื่องจากใช้ระยะเวลาในการพิจารณาล่าช้าจนงานก่อสร้างสัญญา 2 แล้วเสร็จไปแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่จะใช้วิธีพิเศษว่าจ้างซิโน-ไทยฯ
ทั้งนี้ รฟม.จะเร่งว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อออกแบบรายละเอียดงานก่อสร้างท่าเทียบเรือพระนั่งเกล้าก่อน วงเงินประมาณ 5 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาออกแบบ 1-2 เดือน จากนั้นจะเปิดประมูลก่อสร้างใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 10 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ช่วงปลายปี 2560
นอกจากนี้ ครม.ยังอนุมัติการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกของสายสีม่วง ในส่วนของโครงการปรับปรุงอาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) บริเวณแยกนนทบุรี 1 เพิ่มเติมจาก 4 ชั้น (รองรับรถได้ 450 คัน) เป็น 10 ชั้น (รองรับเพิ่มเป็น 1,100 คัน) วงเงิน 160 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้กำหนดราคากลางแล้ว โดยงานส่วนนี้เป็นการก่อสร้างบนโครงสร้างอาคารจอดรถเดิม จึงเห็นว่ามีความจำเป็นต้องให้ผู้รับจ้างสัญญา 3 (งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดรถ) ซึ่งมีกิจการร่วมค้าพีเออาร์ (บมจ.เพาเวอร์ไลน์-บมจ.แอสคอน-บจ.รวมนครก่อสร้าง) เป็นผู้รับจ้าง โดย รฟม.จะว่าจ้างโดยใช้วิธีพิเศษ โดยจะเรียก บมจ.เพาเวอร์ไลน์มาเจรจาให้ได้ข้อยุติและนำเสนอบอร์ด รฟม.อนุมัติในเดือน ก.ย.นี้เพื่อเริ่มการก่อสร้าง ใช้เวลาประมาณ 15 เดือน
“ส่วนของอาคารจอดรถ เนื้องานมีความแตกต่างจากงานก่อสร้างท่าเรือพระนั่งเกล้า เพราะต้องสร้างไปบนโครงสร้างอาคารเดิม หากประมูลได้ผู้รับเหมารายใหม่เข้าไปทำแล้วเกิดกระทบต่อโครงสร้างเดิมจะมีปัญหาได้ แต่ถ้าให้ผู้รับเหมาเดิมทำจะตัดปัญหาไปได้ ซึ่งมีเหตุผลเพียงพอที่จะใช้วิธีพิเศษเจรจากับผู้รับเหมารายเดิม”
โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 58 เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอโครงการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน โดยให้ใช้เงินกู้ดำเนินการ ประกอบด้วย 1. โครงการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก เชื่อมต่อสถานีสะพานพระนั่งเกล้า และท่าเรือพระนั่งเกล้า โดยจะมีการก่อสร้างท่าเรือเพิ่มในฝั่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่มีความทันสมัย มีอาคารผู้โดยสาร และทางเดินเชื่อม (Walk Way) และสะพานข้ามแยก เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้บริการรถไฟฟ้า วงเงิน 99 ล้านบาท 2. โครงการปรับปรุงอาคารจอดแล้วจร (Park & Ride) บริเวณแยกนนทบุรี 1 จากเดิมที่ออกแบบเป็นอาคาร 4 ชั้น รองรับรถได้ 450 คัน ปรับปรุงเป็นอาคาร 10 ชั้น รองรับได้ 1,100 คัน วงเงิน 160 ล้านบาท