xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เตรียมชง พ.ร.บ.การจัดตั้งบริษัทจำกัดคนเดียวให้ ครม.พิจารณาเร็วๆ นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“พาณิชย์” เตรียมดันร่างกฎหมายจัดตั้งบริษัทจำกัดคนเดียว เสนอ ครม.เร็วๆ นี้ ชี้เพิ่มเกณฑ์ควบคุมกิจการของต่างชาติ ป้องกันปัญหานอมินี คาดหากมีผลบังคับใช้จะช่วยให้เอสเอมอี 2.8 ล้านรายเข้าสู่ระบบการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ทำให้มีตัวตน และเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย เผยยังจะช่วยผลักดันยอดจัดตั้งนิติบุคคลเป็น 1.2 ล้านราย ภายใน 2 ปีด้วย

น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ส่งร่าง พ.ร.บ.การจัดตั้งบริษัทจำกัดคนเดียว ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจาก พ.ร.บ.การจัดตั้งนิติบุคคลโดยบุคคลคนเดียว ไปให้หน่วยงานต่างๆ พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะสรุปเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ในเร็วๆ นี้ ซึ่งตามขั้นตอนการออกกฎหมาย เมื่อ ครม.เห็นชอบจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณารายละเอียดอีกครั้ง ก่อนผลักดันเข้าสู่ขั้นตอนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คาดว่าร่างกฎหมายจะได้รับการอนุมัติได้ทันปี 2559 นี้ เพราะเนื้อหาในร่างกฎหมายไม่ซับซ้อนมีเพียง 60 มาตรา น่าจะใช้ระยะเวลาในการพิจารณาไม่นาน

สาระสำคัญของ พ.ร.บ.การจัดตั้งบริษัทจำกัดคนเดียว กรมฯ ได้เพิ่มรายละเอียดในเรื่องอำนาจการควบคุมการบริหารและการครอบงำกิจการโดยคนต่างชาติเข้าไปในร่างของกฎหมาย เพื่อป้องกันการถือหุ้นแทนคนต่างชาติ (นอมินี) หรือนิติบุคคลอำพรางที่คนต่างชาติจ้างคนไทยถือหุ้นแทน เพราะกฎหมายฉบับนี้จะอนุญาตให้เฉพาะคนไทยเท่านั้นที่สามารถมาขอยื่นจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลคนเดียวได้

“ร่างกฎหมายการจัดตั้งบริษัทจำกัดคนเดียวจะไปดูเรื่องสิทธิในการบริหารงานว่ามีคนต่างชาติมีอำนาจในการควบคุมด้วยหรือไม่ ซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหานอมินีได้อีกช่องทางหนึ่ง เพิ่มเติมจาก พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 โดยหากมีการละเมิดกฎหมายเป็นนอมินีให้ต่างชาติจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1 แสนบาท ถึง 1 ล้านบาท” น.ส.ผ่องพรรณ กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากผลักดันกฎหมายจัดตั้งบริษัทจำกัดคนเดียวได้ทันในรัฐบาลชุดนี้ จะเป็นผลงานสำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการลงทุน และส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ให้ประกอบธุรกิจให้ง่ายขึ้น และเอสเอ็มอีจะแสดงตัวตนเข้าสู่ระบบมากขึ้น และมีผลดีต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น

น.ส.ผ่องพรรณ กล่าวว่า การจัดทำกฎหมายได้ทำอย่างรอบด้าน เพราะได้ผ่านความคิดเห็นทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา นักวิชาการ สำนักงานบัญชีและกฎหมาย โดยทุกฝ่ายเห็นด้วยที่จะให้มีกฎหมายฉบับนี้เพราะจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย คาดว่าจะทำให้ยอดการจดทะเบียนนิติบุคคลเพิ่มจำนวนขึ้นอีกเท่าตัว หรือเพิ่มจาก 6 แสนรายในปัจจุบัน เป็น 1.2 ล้านรายภายใน 2 ปี หลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้

“หลักการสำคัญของกฎหมายเพื่อชักจูงให้เอสเอ็มอีกว่า 2.8 ล้านราย เข้าสู่ระบบการจดทะเบียนนิติบุคคล และอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ ลดต้นทุน จึงอนุญาตให้บุคคลคนเดียวสามารถขอจัดตั้งเป็นนิติบุคคลได้” น.ส.ผ่องพรรณ กล่าว

นอกจากนี้ กฎหมายจัดตั้งบริษัทจำกัดคนเดียวยังช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ประสงค์จะดำเนินธุรกิจด้วยตนเองได้มีโอกาสจัดตั้งธุรกิจ ลดปัญหาความขัดแย้งทางธุรกิจ ลดต้นทุนการจ้างพนักงานบัญชี โดยสามารถจ้างผู้ตรวจสอบบัญชีมืออาชีพข้างนอกที่ได้รับการรับรองจากกรมฯ ได้ และยังสะดวกในการบริหารจัดการ สามารถจดเลิกง่าย และหากเลิกแล้วก็สามารถทำธุรกิจเกิดใหม่ได้ เพราะการมีกรรมการหลายคน หากมีปัญหาขัดแย้งกันจะมีการฟ้องร้องใช้เวลานานที่จะเริ่มธุรกิจได้ใหม่ รวมทั้งยังทำให้กฎหมายจัดตั้งธุรกิจของไทยพัฒนาได้ทันต่อสถานการณ์ของโลกที่มีแนวโน้มการใช้กฎหมายในรูปแบบนี้อย่างกว้างขวาง

ทั้งนี้ ประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีกฎหมายที่จะดูแลธุรกิจรูปแบบต่างๆ ไว้ ซึ่งจะกำหนดมาตรฐานแตกต่างกัน โดยขณะนี้ในต่างประเทศที่มีกฎหมายจัดตั้งนิติบุคคลโดยบุคคลคนเดียวแล้วมี 12 ประเทศ เช่น อังกฤษ, สหรัฐฯ , ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, อินเดีย, นิวซีแลนด์ แคนาดา เนเธอร์แลนด์ และในอาเซียน คือ เวียดนาม และสิงคโปร์ ส่วนมาเลเซียกำลังศึกษาอยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น