xs
xsm
sm
md
lg

พาณิชย์จัดระเบียบนิติบุคคลต่างด้าว ต้องแจ้งที่ตั้งออกเลขส่งงบการเงิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ออกประกาศย้ำให้นิติบุคคลต่างด้าวที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทยต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การบัญชี พ.ศ. 2543 โดยมีหน้าที่ส่งงบการเงิน เก็บรักษาบัญชีและเอกสาร แจ้งสถานที่เก็บเอกสาร ซึ่งกรมฯ จะอำนวยความสะดวกในการออกเลขนิติบุคคลให้ โดยไม่ต้องขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษีจากสรรพากรอีก ทั้งนี้แม้จะเป็นธุรกิจที่ไม่ได้ระบุตามบัญชีท้ายของ พ.ร.บ.ต่างด้าวก็ยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทยอย่างเคร่งครัด

น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ตามที่ พ.ร.บ.การบัญชี พ.ศ. 2543 ได้กำหนดให้นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศและเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี ซึ่งหมายความถึงนิติบุคคลต่างประเทศที่ต้องขออนุญาตประกอบธุรกิจในประเทศไทย ตามท้าย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ทั้งบัญชี 2 ที่เป็นธุรกิจเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศหรือมีผลกระทบต่อศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะต้องได้รับการอนุญาตจากคณะรัฐมนตรี และบัญชี 3 เป็นธุรกิจที่คนไทยยังไม่มีความพร้อมในการแข่งขันจะต้องได้รับการอนุญาตจากอธิบดี โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และรวมถึงนิติบุคคลต่างประเทศที่เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย แม้จะมิใช่ธุรกิจตามบัญชีท้ายก็ตาม ซึ่งนิติบุคคลต่างด้าวในประเทศไทยทั้งหมดนี้จะต้องมีหน้าที่ในการจัดทำบัญชีและส่งงบการเงิน โดยยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าหรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด

อย่างไรก็ดี ขณะนี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ออกประกาศ เรื่อง แนวปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี สำหรับผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีที่เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย พ.ศ. 2559 โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป ซึ่งประกาศฉบับนี้มีสาระสำคัญต่อนิติบุคคลต่างด้าวซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีใน 5 ประเด็น คือ 1) ให้เริ่มทำบัญชีตั้งแต่วันที่ นิติบุคคลประกอบกิจการในประเทศไทย 2) จัดทำงบการเงินตามรอบการปิดบัญชี และยื่นต่อกรมฯ หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด 3) ต้องเก็บรักษาบัญชีและเอกสารที่ใช้ประกอบการลงบัญชีไว้ ณ สถานที่ทำการ 4) เมื่อเริ่มประกอบกิจการในประเทศไทยต้องแจ้งสถานที่เก็บรักษาบัญชีและเอกสารที่ใช้ประกอบการลงบัญชีต่อกรมฯ จากนั้นกรมฯ จะออกเลขนิติบุคคลให้เพื่อแสดงความมีตัวตน และ 5) หากมีการเปลี่ยนแปลงหรือแจ้งย้ายสำนักงานให้คงเลขนิติบุคคลนั้นไว้เช่นเดิม

“การออกประกาศฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวาง ‘แนวทางรองรับการปรับปรุงประเภทธุรกิจ’ ตามบัญชี 3 ท้าย พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ที่มีผลให้ธุรกิจต่างด้าวบางประเภทไม่ต้องขออนุญาตประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยขณะนี้ธุรกิจบริการเป็นสำนักงานผู้แทนธนาคาร ได้ถูกปลดออกจากบัญชีแล้ว แต่สำหรับธุรกิจบริการเป็นสำนักงานภูมิภาค และธุรกิจบริการเป็นคู่สัญญาภาครัฐหรือรัฐวิสาหกิจ กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาปลดออกจากบัญชี 3 และเมื่อเป็นธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจตามบัญชีท้าย คนต่างด้าวก็สามารถทำธุรกิจนั้นได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่ก็ยังต้องการการรับรอง ความมีตัวตนโดยรัฐ กรมฯ จึงออกประกาศเพื่อให้ธุรกิจต่างด้าวรายใหม่ทุกรายที่ไม่ต้องขออนุญาตมาแจ้งสถานที่เก็บรักษาบัญชีที่กรมฯ เพื่อที่จะออกเลขทะเบียนนิติบุคคลให้ โดยไม่ต้องไปขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษีจากสรรพากรอีก นอกจากนี้ยังเป็น ‘การย้ำเตือน’ ให้นิติบุคคลต่างด้าวทุกประเภทจะต้องส่งงบการเงินให้ถูกต้องตามกฎหมายและต้องแสดงตัวตน ต่อกรมฯ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดต่อประเทศ อาทิ การใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (นอมินี) ความเสียหายต่อเศรษฐกิจการค้า และผลกระทบต่อการจ้างงานคนไทย เป็นต้น

กรมฯ ได้ดำเนินงานดังกล่าวนี้เพื่อสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการอำนวยความสะดวกแก่ ชาวต่างชาติในการเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจเกิดความคล่องตัว เหมาะสมกับสภาพการค้า การลงทุน และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา พร้อมกับยังต้องรักษาความมั่นคงของเศรษฐกิจในประเทศควบคู่กันไปด้วย”

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกาศฯ ทั้งภาคภาษาไทยและ ภาษาอังกฤษได้ที่ www.dbd.go.th หน้าหลัก และเลือกที่หลักหัวข้อ “ประกาศ” หรือ “กฎหมาย”

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEs ผู้จัดการ” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น