“สมคิด” กล่อมนักลงทุนญี่ปุ่นเตรียมเสนอ ครม.ในอีก 2 สัปดาห์จัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทยวงเงิน 1 แสนล้านบาท หวังพัฒนาระบบดิจิทัลเชื่อมโยงอินเทอร์เน็ตทั่วโลก ดันไทยศูนย์กลางการค้าและการผลิตในภูมิภาค ดึงดูดการลงทุน “บีโอไอ” งัดเว้นภาษีเงินได้ฯ 13 ปี จูงใจเข้าลงทุนใน EEC
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนา Bangkok Nikkei Forum 2016 แสดงปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา Bangkok Nikkei Forum 2016 ซึ่งมีนักธุรกิจและนักลงทุนญี่ปุ่นเข้าร่วมงานกว่า 400 คน ว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าได้เตรียมเสนอการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) วงเงิน 1 แสนล้านบาท เพื่อร่วมลงทุนโครงการต่างๆ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิตอล ลงทุนเกตเวย์ เชื่อมโยงอินเทอร์เน็ตกับทั่วโลก เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางอินเทอร์เน็ตของอาเซียน
“รัฐบาลกำลังเดินหน้าพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ผ่านการพัฒนาเมืองใหม่ ปรับปรุงท่าเรือแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ขนส่งสินค้าผ่านระบบราง ทำให้สนามบินอู่ตะเภา เชื่อมกับสนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง สิ่งเหล่านี้จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางและเป็นที่น่าสนใจสำหรับการลงทุน” นายสมคิดกล่าว
ทั้งนี้ ไทยต้องการเร่งรัดการเจรจากลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคของอาเซียน หรือ RCEP เพื่อให้ได้ข้อยุติ หากรวมตัวกันได้จะมีเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่มีสัดส่วนเป็นจีดีพีถึง 30% ของจีดีพีโลก เพื่อเชื่อมกับกลุ่มประเทศข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือTPP โดยมีสหรัฐฯ เป็นแกนนำ จะทำให้เงินไหลเข้าอาเซียนมากขึ้น เพราะขณะนี้สภาพคล่องกำลังล้นระบบในตลาดโลกซึ่งสถานที่ปลอดภัยคืออาเซียนที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญ
นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมามีโครงการของนักลงทุนญี่ปุ่นที่ได้รับอนุมัติให้ส่งเสริมการลงทุน จำนวน 121 โครงการ มูลค่า 20,850 ล้านบาท หรือประมาณ 62,550 ล้านเยน เป็นกิจการในกลุ่มบริการถึง 48 โครงการ โดยเป็นกิจการสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (IHQ) และบริการการค้าระหว่างประเทศ (ITC) รวม 39 โครงการ
ทั้งนี้ รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจและการลงทุน รวมทั้งจะมีการเพิ่มเพดานสิทธิประโยชน์ให้กับโครงการลงทุนที่มีคุณค่ากับเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการเพิ่มการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเดิมสูงสุด 8 ปีเป็นสูงสุด 13 ปีภายใต้ พ.ร.บ.บีโอไอฉบับใหม่ และการตั้งกองทุนมูลค่า 10,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย และคณะรัฐมนตรีได้ให้เห็นชอบในหลักการแล้ว อยู่ระหว่างขั้นตอนทางกฎหมายและการประกาศใช้ ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นให้มีการลงทุนในกิจการที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจมากขึ้น