xs
xsm
sm
md
lg

ปรับปรุงโรงไฟฟ้าจะนะ รับมือก๊าซฯ มี CO2 สูงขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ปตท.” แจงแนวทางการจัดการคุณภาพก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงไฟฟ้าจะนะ หลังพบก๊าซฯ จากแหล่งเจดีเอ เอ-18 มีปริมาณ CO2 เพิ่มมากขึ้น

นายวุฒิกร สติฐิต ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่จัดหาและตลาดก๊าซธรรมชาติ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีความร่วมมือนับตั้งแต่แรกในการนำก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเจดีเอ เอ-18 พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย มาใช้ประโยชน์ในโรงไฟฟ้าจะนะเมื่อปี 2551 โดยการเจาะหลุมผลิตใต้ดิน ณ แหล่งเจดีเอ เอ-18 พบว่าหลายหลุมผลิตมีปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) แตกต่างกัน ดังนั้นในสัญญาซื้อก๊าซฯ กับผู้ผลิตก๊าซฯ จึงมีการกำหนดปริมาณ CO2 ไม่เกินร้อยละ 23 ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกับสัญญาซื้อก๊าซฯ กับผู้ผลิตก๊าซฯ รายอื่นๆ โดยในกรณีของแหล่งเจดีเอ เอ-18 ได้มีการหารือแผนดำเนินการที่เหมาะสมไว้แล้ว

ทั้งนี้ คุณภาพก๊าซฯ จากแหล่งเจดีเอ เอ-18 ในช่วงแรกมีปริมาณ CO2 ไม่เกินร้อยละ 18 ดังนั้น กฟผ.และ ปตท.จึงเห็นชอบร่วมกันที่จะใช้ก๊าซฯ โดยไม่ผ่านโรงแยกก๊าซฯ และไม่ลงทุนติดตั้งหน่วยแยก CO2 ตั้งแต่ต้น เพื่อชะลอภาระต้นทุนของผู้ใช้ไฟฟ้า โดย ปตท.ได้ใช้ข้อมูลที่ดีที่สุดในขณะนั้น ประมาณการคุณภาพก๊าซฯ ให้ กฟผ.เพื่อใช้ในการออกแบบและประมูลโรงไฟฟ้า รวมทั้งมีการตกลงกำหนดแนวทางการดำเนินการไว้ในสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ระหว่างกันว่า หากในอนาคตคุณภาพก๊าซฯ เปลี่ยนแปลงไปตามที่ได้คาดการณ์ล่วงหน้าไว้ จะมีการติดตั้งหน่วยแยก CO2 ในภายหลัง

ปัจจุบันเมื่อพบว่าคุณภาพก๊าซฯ สำหรับโรงไฟฟ้าจะนะมีแนวโน้มปริมาณ CO2 เพิ่มสูงขึ้น กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ปตท. และ กฟผ.ได้หารือร่วมกัน และกำหนดแนวทางในการปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้สามารถรับก๊าซฯ ที่มีปริมาณ CO2 สูงขึ้น ซึ่งมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าและใช้ระยะเวลาดำเนินการสั้นกว่าการติดตั้งหน่วยแยก CO2 ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวก็เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและก่อให้เกิดต้นทุนต่อประเทศต่ำที่สุด เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน

“การนำก๊าซธรรมชาติจากแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย มาใช้งานตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปี ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและความมั่นคงด้านพลังงาน แม้ว่าคุณภาพก๊าซฯ ในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปแต่ก็สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า รวมทั้งปัจจุบันกระทรวงพลังงานได้ให้ความอนุเคราะห์ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด จึงเป็นที่มั่นใจได้ว่าการจัดการคุณภาพก๊าซธรรมชาติสำหรับโรงไฟฟ้าจะนะจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีผลกระทบต่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายน้อยที่สุด” นายวุฒิกรกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น