“กฟผ.” เกาะติดปริมาณน้ำในเขื่อนพบสัญญาณดีที่ฝนมาเร็วตั้งแต่ มิ.ย.จาก 2 ปีที่ผ่านมาฝนมาปลาย ก.ค. ภาพรวมเริ่มมีน้ำไหลเข้าอ่าง แต่ 2 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยายังไม่มากนัก ต้องลุ้นให้มรสุมเข้าภาคเหนือช่วงฝนนี้ ส่วนจะทำนาปรังได้หรือไม่ต้องรอ ต.ค. หากน้ำเข้าเขื่อนระดับเฉลี่ย 80% มีโอกาสสูง
นายธนรัชต์ ภุมมะกสิกร ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กฟผ.ยังคงติดตามปริมาณฝนใกล้ชิดเพื่อติดตามการกักเก็บน้ำในเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล และสิริกิติ์ ที่จะมีส่วนสำคัญในการระบายน้ำลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยขณะนี้เริ่มมีน้ำไหลเข้าเขื่อนทั้ง 2 แห่งแล้วแต่ปริมาณยังน้อยซึ่งต้องติดตามเมื่อสิ้นฤดูฝนช่วงเดือนตุลาคม 2559 นี้ว่าจะมีปริมาณน้ำเข้าเขื่อนอยู่ในระดับใด หากน้ำเฉลี่ย 80% ของความจุอ่างก็จะสามารถระบายน้ำเพื่อทำนาปรังได้
“ภาคอีสานปริมาณฝนค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับภาคเหนือซึ่งทำให้ภาพรวมน้ำไหลลงเขื่อนภาคอีสานดีขึ้นมาก แต่ 2 เขื่อนหลักในลุ่มเจ้าพระยา คือ ภูมิพล และสิริกิติ์ ยังไม่มากนัก แต่ก็ถือว่ามีสัญญาณที่ดีที่เริ่มมีฝนตั้งแต่เดือน มิ.ย.ซึ่งปกติ 2 ปีที่ผ่านมาฝนจะเริ่มมาปลาย ก.ค.ซึ่งคงต้องติดตามร่องมรสุมที่จะผ่านภาคเหนือเพราะจะมีส่วนสำคัญในการเติมน้ำให้ 2 เขื่อนนี้ เราก็ต้องติดตามเพื่อรายงานให้กับทางคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำที่มีกรมชลประทานเป็นประธานจะเป็นผู้พิจารณาว่าที่สุดจะระบายน้ำเพื่อสามารถทำนาปรังได้หรือไม่อย่างไร” นายธนรัชต์กล่าว
ปัจจุบันข้อมูล ณ วันที่ 4 ก.ค. 2559 เขื่อนภูมิพลมีน้ำอยู่ระดับ 4,075 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 30% ของความจุอ่างที่ 13,462 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่มีฝนตกเริ่มมีน้ำไหลลงเขื่อน 10.84 ล้าน ลบ.ม. ระบายออก 3 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่เขื่อนสิริกิติ์มีน้ำอยู่ 3,617 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 38% ของระดับความจุอ่าง มีน้ำไหลลงเขื่อน 43.81 ล้าน ลบ.ม.มีการระบายออก 10.63 ล้าน ลบ.ม. หากพิจารณาจะพบว่าระดับน้ำต้นทุนยังต่ำอยู่แต่ฤดูฝนจริงๆ ที่จะมาเติมเต็มก็คงจะต้องรอดูช่วง ก.ค.นี้
ทั้งนี้ การระบายน้ำของ กฟผ.จะเป็นไปตามมติของคณะอนุกรรการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำซึ่งหลักการของการระบายน้ำโดยเฉพาะ 2 เขื่อนหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยาจะเน้นใน 3 เรื่อง คือ 1. น้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค 2. น้ำเพื่อผลักดันน้ำเค็มที่จะต้องปล่อยควบคู่ไปกับเขื่อนป่าสัก และ 3. น้ำเพื่อการทำนาปรัง ซึ่งน้ำเพื่อการทำนานอกฤดูนี้จะเป็นลำดับสุดท้ายหากมีเหลือมากพอ
อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดจะยังมีความจำเป็นสำหรับประเทศไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคตเนื่องจากจำนวนประชากรของคนไทยเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี แต่ปริมาณน้ำจากเขื่อนที่กักเก็บได้ยังคงมีเท่าเดิมและแต่ละปีการจัดสรรน้ำก็ต้องรอปริมาณฝนที่แน่ชัด ดังนั้น เกษตรกรรมของไทยจำเป็นต้องปรับให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำซึ่งเห็นว่าการจัดทำโซนนิ่งให้แต่ละพื้นที่มีการเพาะปลูกที่เหมาะสมก็จะช่วยได้มากในระยะยาว