xs
xsm
sm
md
lg

“ไทย-พม่า” ถกระดับปลัดพลังงานชื่นมื่น เดินหน้าสานต่อความร่วมมือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อารีพงศ์” เผยการหารือด้านพลังงานในเวทีระดับปลัดพลังงานของไทยและพม่ามีความคืบหน้า พม่าพร้อมสานต่อความร่วมมือเดิมหลังเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและปฏิรูปรวมกระทรวงพลังงานและไฟฟ้าเข้าด้วยกัน ผลเจรจาเบื้องต้นเดินหน้า FSUR ที่เมืองกันบ็อก ขายไฟป้อนนิคมฯ ทวาย เดินหน้าโรงไฟฟ้าพลังน้ำมายตง-ฮัจยี เตรียมสรุปภาพใหญ่อีกครั้งเดือน พ.ย.



นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังการประชุม MTJWC (Myanmar-Thailand Joint Working Committee) วันนี้ (10 มิ.ย.) ว่า การหารือครั้งนี้เป็นระดับปลัดกระทรวงพลังงานของไทย และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ (พม่า) เพื่อสานต่อความร่วมมือด้านพลังงานตามกรอบเดิมที่เคยตกลงไว้ ภายหลังจากที่พม่ามีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและมีการปฏิรูปหน่วยงานรัฐโดยรวมกระทรวงพลังงานไฟฟ้าและกระทรวงพลังงานเป็นหนึ่งเดียว โดยพม่าพร้อมที่จะเดินหน้าร่วมมือกับไทยไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่การหารือได้มีความคืบหน้าทั้งเรื่องคลังแอลเอ็นจีลอยน้ำ (FSRU) การซื้อขายไฟฟ้าป้อนเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โรงไฟฟ้าพลังน้ำมายตง และฮัดจี เป็นต้น

“พม่าจะมีการสานต่อความร่วมมือกับไทยทั้งด้านไฟฟ้าและปิโตรเลียมตามกรอบที่เคยตกลงไว้ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนรัฐบาลก็ตาม และจากนี้จะมีการหารือรายละเอียดระดับเจ้าหน้าที่แต่ละเรื่องอีก 2-3 ครั้งในช่วงเดือน ก.ค.และ ก.ย. จากนั้นจะสรุปความคืบหน้าเสนอมายังการประชุมในระดับปลัดกระทรวงพลังงานของทั้งสองประเทศในเดือน พ.ย. 2559” นายอารีพงศ์กล่าว

สำหรับการหารือครั้งนี้ มีความร่วมมือคลังแอลเอ็นจีลอยน้ำ (FSRU ) ขนาด 3 ล้านตัน ที่จะดำเนินงานโดย บมจ.ปตท. เพื่อใช้ในไทย และอีกส่วนหนึ่งจะป้อนให้แก่พม่า โดยขณะนี้ทางเมียนมายังไม่ทราบปริมาณที่ชัดเจน แต่ยืนยันว่าจะต้องมีคลังแอลเอ็นจีเป็นครั้งแรกแน่นอนเพื่อความมั่นคง เนื่องจากทางพม่าจะมีรอยต่อช่วงสัญญาก๊าซฯ ที่จะหมดอาจทำให้ช่วง 5-6 ปีข้างหน้าปริมาณก๊าซในประเทศจะลดต่ำหรือขาดได้ จึงต้องมีการสร้างคลังแอลเอ็นจีรองรับ โดยการหารือสรุปจุดที่จะมีการเชื่อมท่อก๊าซเข้ากับคลังแอลเอ็นจีที่ บริเวณเมืองกันบ็อก (Kanbouk) ของพม่า อยู่ไม่ห่างจากเมืองทวายซึ่งพบว่ามีที่ตั้งที่เหมาะสมอยู่ 5 จุด โดย ปตท.จะได้ขอส่งเจ้าหน้าที่ลงสำรวจพื้นที่เพื่อสรุปที่ตั้งให้ชัดเจนอีกครั้ง

ส่วนโครงการซื้อไฟฟ้าเพื่อป้อนเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายนั้น ทางพม่ายืนยันยังคงมีความต้องการที่จะซื้อไฟจากไทย 100 เมกะวัตต์ ผ่านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แต่ในเรื่องของแผนการพัฒนาทวายเองยังไม่ชัดเจน โดยทางพม่าคงจะไปหารือกับผู้พัฒนาเองอีกครั้ง โดยการซื้อไฟจะต้องมีการเชื่อมระบบส่งจากพรมแดนไทยไปทวาย 70 กิโลเมตร ส่วนพม่าจะสร้างสายส่งระยะทาง 130 กม.มาเชื่อมโดยการสร้างระบบส่งของฝั่งพม่า คาดว่าจะเป็นการดำเนินงานของบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน)

นายอารีพงศ์กล่าวว่า โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำนั้น พม่ายังพร้อมสานต่อทั้งในส่วนของมายตง แต่ได้ปรับในส่วนของเขื่อนจากเดิมที่มีแหล่งเดียว แต่เนื่องจากมีขนาดสูงเกินไปจึงปรับลดลงมาเหลือ 2 เขื่อนและจะดำเนินการพัฒนาเขื่อนแรกก่อน ขณะนี้จะต้องไปศึกษาความสูงที่เหมาะสมแต่คาดว่ากำลังการผลิตจะอยู่ในระดับ 3,000 เมกะวัตต์ จากกำลังทั้งสิ้น 6,300 เมกะวัตต์ ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำฮัจยีตั้งอยู่ในจังหวัดผาอัน รัฐคยิ่น กำลังผลิต 1,360 เมกะวัตต์ แต่จะป้อนกลับมาไทย 1,190 เมกะวัตต์ก็ยังคงมีการศึกษาต่อเนื่องแต่ยอมรับว่ามีการคัดค้านอยู่

“ขณะเดียวกัน ทาง บมจ.ปตท.จะเข้าไปอบรมให้ความรู้ให้แก่โรงเรียนอาชีวะของพม่า เพื่อรองรับการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายที่จะมีนิคมอุตสาหกรรมในการรองรับการลงทุน รวมถึง กฟผ.จะช่วยยกระดับความรู้และอบรมระบบสายส่งไฟฟ้าให้แก่พม่าเพื่อร่วมมือด้านพลังงานมากขึ้น” นายอารีพงศ์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น