“อาคม” เผยผลตรวจอสบของ EASA รอบ 6 เดือนล่าสุด ประกาศเมื่อ 16 มิ.ย. 59 ไม่แบนสายการบินไทยเหมือนเดิม คาดเป็นผลจากความร่วมมือ EASA เร่งแก้ SSC ธงแดง ICAO เดินตามแผน ขณะที่ขอ ครม.ยืดเวลาใช้งบ 2.5 ล้านยูโรอีก 4 เดือน กำชับ กพท.เร่งประสานEASA จัดผู้เชี่ยวชาญ 7 คนแก้ปัญหามาตรฐานการบินของไทย
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (21 มิ.ย.) ว่า ได้รายงาน ครม.ให้รับทราบถึงผลการตรวจสอบองค์การความปลอดภัยด้านการบินแห่งสหภาพยุโรป หรือเอียซ่า (EASA) สายการบิน ซึ่ง EASA จะมีการทบทวนสายการบินเป็นประจำทุก 6 เดือน โดยเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2559 ได้ประกาศรายชื่อสายการบินที่ห้ามบินเข้ายุโรปจำนวน 214 สายการบินจาก 19 ประเทศ โดยไม่ปรากฏชื่อสายการบินของประเทศไทยแต่อย่างใด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือระหว่างไทยกับ EASA ที่ทำให้ EASA เห็นว่าไทยให้ความสำคัญและมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญ (SSC) ด้านการบิน
โดยก่อนหน้านี้ EASA ได้ตรวจสอบสายการบินของไทยที่บินเข้ายุโรปไปแล้วเมื่อเดือนธ.ค. 2558 และมีการประกาศรายชื่อสายการบินที่ห้ามบินเข้ายุโรป ซึ่งในครั้งนั้นไม่มีรายชื่อสายการบินของประเทศไทยอยู่ในรายชื่อความปลอดภัยทางอากาศของอียู (EU Air Safety List) แต่อย่างใด ซึ่งประเทศไทยมีสายการบินไทย ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพียงสายเดียวที่มีเส้นทางบินเข้ายุโรป
โดย ครม.ยังได้เห็นชอบในการขยายเวลาการใช้งบกลางเพื่อสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเนื่องจากความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กับ EASA วงเงิน 2.5 ล้านยูโร (หรือไม่เกิน 100 ล้านบาท) ซึ่ง ครม.เคยให้ความเห็นชอบวันที่ 17 พ.ย. 2558 โดยได้มีการลงนามความร่วมมือกันเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2558-31 พ.ค. 2559 ออกไปถึงวันที่ 30 ก.ย. 2559 ทั้งนี้เนื่องจาก EASA ยังอยู่ระหว่างการจัดหาผู้เชี่ยวชาญจำนวน 7 คนเพื่อส่งมาประจำที่ไทย มีหน้าที่ให้คำแนะนำและปฏิบัติงานร่วมกับพนักงาน กพท. รวมถึงวางแนวทางการปฏิบัติหน้าที่กลุ่มงานต่างๆ
ซึ่งจากการวิเคราะห์ช่องว่างของงานในแง่ขีดความสามารถของบุคลากรและกฎระเบียบต่างๆ ในปัจจุบันของ กพท. กับมาตรฐาน EASA พบ 7 เรื่องที่ทาง EASA ต้องส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมทำงาน คือ 1. งานนิรภัยการบิน (Safety Management) 2. มาตรฐานปฏิบัติการการบิน (Flight Operation Standard) 3. งานสมควรเดินอากาศและวิศวกรรมการบิน (Airworthiness of Aircraft Engineering) 4. การจดทะเบียนอากาศยานและใบอนุญาตประจำหน้าที่ (Aircraft Registration and personnel Licensing)
5. มาตรฐานสนามบิน (Aerodrome Standard) 6. มาตรฐานการบริการ การเดินอากาศ (Air Cification Service Standard) 7. มาตรฐานการรักษาความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกการบินพลเรือน โดย ครม.ได้ให้กระทรวงคมนาคมและ กพท.เร่งรัดการจัดหาผู้เชี่ยวชาญ 7 คนเข้ามาโดยเร็ว ซึ่งให้ทยอยจัดหาเข้ามาเพื่อเริ่มเดินหน้าความร่วมมือ