xs
xsm
sm
md
lg

หอการค้าไทยคาดเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังโต 3.3% หลังรัฐอัดฉีด ท่องเที่ยวโต ส่งออกฟื้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หอการค้าไทยประเมินเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังฟื้นตัว คาดโต 3.3% หลังมาตรการอัดฉีดรัฐเริ่มส่งผล เมกะโปรเจกต์เดินหน้า เอกชนเพิ่มการลงทุน ท่องเที่ยวยังโต ส่งออกฟื้นตัว ส่วนสินค้าเกษตรราคาดีดตัวขึ้น เหตุน้ำมันกลับเข้าสู่จุดสมดุล เผยยังต้องระวังภัยแล้ง แบงก์เข้มปล่อยกู้ ยุโรปตัด GSP แบนประมง จีนชะลอตัว ยันอังกฤษออกจากอียูไม่กระทบการค้าไทย

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้ 3.3% โดยได้รับผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่เริ่มมีผลต่อการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น การลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น รัฐบาลเร่งเบิกจ่ายงบประมาณทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวชายแดน นโยบายดอกเบี้ยนโยบายระดับต่ำที่ 1.50% ที่มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง การส่งออกมีสัญญาณการฟื้นตัว โดยครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้ 2.6% ทำให้ทั้งปีกลับมาเป็นบวก 0.8% และเงินเฟ้อครึ่งปีหลังจะอยู่ที่ 0.9% ทั้งปีจะอยู่ที่ 0.4% โดยคาดทั้งปีเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวตามเป้าหมาย 3.2-3.5%

“โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ดีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ถ้าขยายตัวดีขึ้นจะทำให้การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น และถ้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเกิดผลเป็นรูปธรรม ก็จะมีส่วนในการกระตุ้นการบริโภค และการลงทุนของภาคเอกชนให้ขยายตัวตามไปด้วย”

นายอิสระกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังจะได้รับปัจจัยบวกจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันโลก ซึ่งจากรายงานประจำเดือน มิ.ย. 2559 ของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดว่าตลาดน้ำมันโลกจะเข้าสู่ภาวะสมดุลในช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งถือเป็นการกลับมาที่จุดสมดุล หลังอุปทานมากกว่าอุปสงค์อยู่เป็นเวลา 2 ปี เนื่องจากอุปทานน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงจากภาวะขัดข้องด้านการผลิตน้ำมันของกลุ่ม OPEC และนอกกลุ่ม OPEC ประกอบกับอุปสงค์น้ำมันโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น

โดยจากภาวะดังกล่าวทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรจะปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้สถานการณ์รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น เช่น ราคาข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นสินค้าหลักที่สำคัญของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีผลทำให้กำลังซื้อของเกษตรกรเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งหลังของปี

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยลบที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทย คือ ปัญหาภัยแล้งที่ยาวนาน และราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งจะมีผลทำให้กำลังการซื้อของเกษตรกรหดหายไป สถาบันการเงินเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) สหภาพยุโรปตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) และแบนสินค้าประมงสินค้าชั่วคราว (IUU) เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวจากการปรับนโยบายเศรษฐกิจ โดยเน้นพึ่งพาสินค้าในประเทศและลดการนำเข้า

นายอิสระกล่าวว่า การที่อังกฤษจะลงประชามติถอนตัวเองออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) นั้น หากเกิดขึ้นจริงจะส่งผลให้ตลาดการเงินทั่วโลกมีความผันผวนและค่าเงินยูโรจะอ่อนค่าลงอย่างมาก เช่นเดียวกับอังกฤษหากออกมาค่าเงินปอนด์น่าจะอ่อนค่าลงในระยะสั้น โดยระยะยาวอังกฤษจะสามารถดำเนินนโยบายเป็นเอกเทศได้มากขึ้น และเชื่อว่าแม้อังกฤษจะออกจากอียูก็จะไม่กระทบต่อการค้าไทย เพราะไทยค้ากับอียูเพียง 10% และกับอังกฤษ 2% แต่ถ้าไม่ออกทุกอย่างก็จะยังคงเหมือนเดิม อังกฤษต้องแบกรับภาระหนี้ของอียูไว้เหมือนเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น