xs
xsm
sm
md
lg

เจรจา BEM เดินรถสีน้ำเงิน เซฟงบกว่า 9 พันล้านตลอดสัญญา 30 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รฟม.เผยเจรจาตรง BEM เดินรถสีน้ำเงินต่อขยายประหยัดกว่าประมูลถึง 9 พันล้าน คาด กก. PPP เคาะ ก.ค. เซ็นสัญญาได้ใน ต.ค. ขณะที่ลุยเปิดประมูลสีส้ม วงเงินเกือบ 8 หมื่นล้าน 1 ก.ค.นี้ เร่งอัดเม็ดเงินก้อนแรก 10% เข้าระบบ ขณะที่โมโนเรล “ชมพู-เหลือง” วงเงินรวม แสนล้านจ่อประมูลใน ก.ค.เช่นกัน เผยชงสีม่วงใต้ และส่วนต่อสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑล วงเงินลงทุนรวมกันกว่า 1.18 แสนล้าน คาดเปิดประมูลได้ใน Q4/59

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. ได้เห็นชอบแนวทางการเจรจาตรงกับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้เดินรถสายเฉลิมรัชมงคล ให้เป็นผู้เดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ ตามมติคณะกรรมการมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยเอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56) แล้ว ขณะนี้ได้เสนอเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ซึ่งคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการ PPP) จะพิจารณาในต้นเดือน ก.ค.นี้ หาก กก. PPP เห็นชอบตามขั้นตอนจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ จากนั้น รฟม.จะเริ่มเจรจากับ BEM คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน จะลงนามสัญญาได้ในเดือน ต.ค. 2559

ทั้งนี้ ตามการศึกษาพบว่าการเจรจาตรงกับ BEM ผู้เดินรถรายเดิมจะประหยัดค่าใช้จ่ายรวมตลอดอายุสัมปทาน 30 ปี กว่า 9,000 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับการเปิดประมูลใหม่ โดยส่วนใหญ่จะเป็นค่าบริหารจัดการ ค่าซ่อมบำรุงต่างๆ ส่วนค่าลงทุนในการจัดซื้อระบบที่ศูนย์ซ่อมบำรุงที่ถนนเพชรเกษมจะประหยัด 200-300 ล้านบาท

ตามแผนจะเปิดเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายในปี 2562 ซึ่งหลังลงนามสัญญากับ BEM จะต้องใช้เวลาในการติดตั้งระบบและจัดหาขบวนรถประมาณ 36 เดือน ซึ่งอาจจะต้องเร่งรัดเอกชนต่อไปเพื่อไม่ต้องเสียค่าบำรุงรักษา (Care of Work) ตัวโครงสร้างที่เสร็จก่อนหรือเสียน้อยที่สุด

นายพีระยุทธกล่าวว่า รฟม.จะเปิดประกวดราคารถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 21.2 กม. ค่าก่อสร้างงานโยธาที่ 76,632 ล้านบาท ในวันที่ 1 ก.ค.นี้ และจะได้ตัวผู้รับจ้างเริ่มงานก่อสร้างในต้นปี 2560 ซึ่งภายหลังลงนามสัญญาจะเบิกจ่ายเงิน 10% ซึ่งจะมีเม็ดเงินเข้าระบบ เกิดการสร้างงาน ทั้งซัปพลายเออร์, วัสดุก่อสร้าง ธุรกิจจะหมุนเวียนไปด้วย ซึ่งเป็นไปตามนโยบายรัฐบาลทันที

ส่วนสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 53,490 ล้านบาท และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 29.1 กม. วงเงินลงทุน 51,810 ล้านบาท (ระบบ Monorail) คาดว่าจะเปิดประกวดราคาได้ในเดือน ก.ค.เช่นกัน นอกจากนี้ รฟม.ได้เสนอโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. วงเงินลงทุนรวม 101,112 ล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางแค-พุทธมณฑล สาย 4 ระยะทาง 7 กม. วงเงินลงทุน 17,262.45 ล้านบาท ไปยังกระทรวงคมนาคมแล้ว ซึ่งหาก ครม.เห็นชอบในส่วนของสายสีม่วงใต้ คาดว่าจะนำเสนอร่างประกาศเชิญชวนประกวดราคา (TOR) ต่อคณะกรรมการ รฟม.ในเดือน ส.ค-ก.ย. จากนั้นคาดว่าจะสามารถเปิดประมูลได้ภายในไตรมาส 4/59
กำลังโหลดความคิดเห็น