xs
xsm
sm
md
lg

แอร์พอร์ตลิงก์ได้ซ่อมแน่! “อีม๊าส” มาเลเซีย ซิวสัญญา 282 ล. 9 ขบวนเสร็จ ม.ค.61

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อีม๊าส” จากมาเลเซียคว้าซ่อมบำรุงใหญ่รถแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ 9 ขบวน วงเงิน 282 ล. เตรียมชงบอร์ดแอร์พอร์ตลิงก์ 9 มิ.ย. ก่อนเสนอบอร์ด ร.ฟ.ท.เห็นชอบ คาดเซ็นสัญญา ก.ค. ซ่อมเสร็จ ม.ค.61 ส่วนปรับรถด่วน 4 ขบวน เป็นรถธรรมดา เตรียมนำขบวนแรกออกวิ่งบริการ ส.ค.นี้ เพิ่มความจุรับผู้โดยสารได้อีกวันละ 1 หมื่นคน โดยความจุเพิ่มเป็น 7.2 หมื่นคน/วัน ลดปัญหาการรอนาน

นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มสายงานปฏิบัติการและซ่อมบำรุง บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สรุปผลการประกวดราคาซ่อมบำรุงใหญ่ (Overhaul) รถแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ 9 ขบวนแล้ว โดยบริษัท อีม๊าส ซึ่งเป็นผู้ดูแลระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ประเทศมาเลเซีย เป็นผู้ได้รับการคัดเลือก โดยเสนอราคาที่ 282 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางที่กำหนดไว้ที่ 293 ล้านบาท โดยหลังจากนี้จะเสนอผลการประมูลต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) แอร์พอร์ตลิงก์ อนุมัติใน วันที่ 9 มิ.ย.นี้จากนั้นจะเสนอบอร์ดการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อนุมัติ คาดว่าจะลงนามสัญญาได้ช่วงปลายเดือน ก.ค.2559

ทั้งนี้ บริษัทอีม๊าส ถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในการซ่อมบำรุงระบบรถ เนื่องจากเป็นผู้บริหารดูแลระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์มาเลเซียโดยใช้รถของซีเมนส์ รุ่น DESIRO เหมือนไทย อีกทั้งยังผ่านการซ่อมบำรุงใหญ่มาแล้ว 3 รอบ โดยหลังลงนามสัญญาจ้าง ตามขั้นตอนจะต้องใช้เวลาสำรองอะไหล่จากต่างประเทศ 7-8 เดือน จากนั้นจึงจะเริ่มกระบวนการซ่อมบำรุง โดยใช้เวลาขบวนละ 1 เดือน ซึ่งจะทยอยซ่อมทีละขบวนเพื่อไม่ให้กระทบต่อการให้บริการที่จะต้องมีขบวนรถวิ่งบริการ 5 ขบวน และสำรอง 2 ขบวน ในวันธรรมดา ส่วนเสาร์-อาทิตย์ จะมีรถ 4 ขบวนให้บริการ โดยการซ่อมบำรุงใหญ่จะเสร็จสิ้นภายในเดือน ม.ค.2561

นายสุเทพ กล่าวว่า วาระการซ่อมบำรุงใหญ่รถแอร์พอร์ตลิงก์ จะอยู่ที่ระยะทางวงรอบการวิ่งที่ 1.2 ล้าน กม. ระยะที่ 2.4 ล้าน กม. และระยะที่ 3.6 ล้าน กม.ตามลำดับ ซึ่งระยะที่ 1.2 ล้าน กม.นั้น บริษัทฯ ได้ทำการซ่อมอะไหล่สำคัญบางส่วน (Partial Overhaul) ที่เกี่ยวข้องต่อความปลอดภัยไปแล้ว ดังนั้น รอบนี้จะเป็นระยะทางวิ่งที่ 2.4 ล้าน กม. โดยปัจจุบัน รถแอร์พอร์ตลิงก์ วิ่งระยะทางรวมประมาณ 1.7 ล้าน กม. ขณะที่ต้องเข้าใจว่า รถแอร์พอร์ตลิงก์ วิ่งบริการเฉลี่ย 1,000 กม. มากกว่ารถไฟฟ้า BTS และรถ MRT ที่วิ่งเฉลี่ยวันละ5,000 กม. ทำให้วงรอบในการซ่อมใหญ่อยู่ที่ทุกๆ 5 ปี ส่วน รถแอร์พอร์ตลิงก์ จะต้องซ่อมใหญ่ทุกๆ 3 ปี

โดยการซ่อมบำรุงใหญ่ (Overhaul) รถแอร์พอร์ตเรลลิงก์ 9 ขบวนครั้งนี้ จะมีทั้งหมด 13 ระบบ เช่น แคร่ล้อ (Bogies), ตัวต่อพ่วง (Coupler), ระบบแอร์, ตัวขับเคลื่อน (Traction Converter Unit), ระบบเบรก, แผงรับกระแสไฟฟ้า, หม้อแปลงไฟฟ้า เป็นต้น

นอกจากนี้ บริษัทยังได้ดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาการให้บริการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันผู้โดยสารเฉลี่ยกว่า 6 หมื่นคนต่อวัน โดยเร่งปรับปรุงสภาพภายในขบวนรถด่วน (Express Line) 4 ขบวน โดยมีการปรับปรุงที่นั่งในขบวนรถ และเพิ่มพื้นที่ยืนมากขึ้น เพื่อรองรับการให้บริการแบบรถธรรมดา (City Line) งบประมาณจำนวน 24 ล้านบาท โดยขบวนแรกจะแล้วเสร็จ และนำออกให้บริการได้ในเดือน ส.ค.นี้ โดยจะแล้วเสร็จทั้ง 4 ขบวนใน 4 เดือน โดยเมื่อรถทั้ง 9 ขบวน เป็นแบบรถธรรมดาทั้งหมดจะเพิ่มความจุในการรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มจาก 340 คน/ขบวน หรือ 61,500 คนต่อวัน เป็น 740 คนต่อขบวน หรือ 72,000 คนต่อวัน หรือเท่ากับรับได้เพิ่มขึ้นอีก 10,000 คนต่อวันจากเดิม ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการรอนานลงได้ โดยประเมินจากอัตราการเติบโตของผู้โดยสารปีละ 10% คาดว่าจะบรรเทาความแออัดไปได้อีก 2 ปี ระหว่างรอการจัดซื้อรถใหม่ 7 ขบวน

​ส่วนโครงการเพิ่มเติมลิฟต์ บันไดเลื่อน และทางลาดเลื่อนทั้ง 8 สถานี เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้บริการระบบรถไฟฟ้าแก่ผู้โดยสารนั้น ล่าสุด บริษัทฯได้ติดตั้งลิฟต์โดยสารเพิ่มอีก 6 สถานี คือ พญาไท ราชปรารภ รามคำแหง หัวหมาก บ้านทับช้าง และลาดกระบัง โดยติดตั้งเพิ่มสถานีละ 2 ตัว ทำให้ในปัจจุบันจำนวนลิฟต์โดยสารทั้ง 8 สถานีจากที่มีจำนวน 40 ตัว ทำให้เพิ่มเป็น 52 ตัว ส่วนบันไดเลื่อนในทั้ง 8 สถานี มีจำนวนถึง 80 ตัว และทางลาดเลื่อนมี 6 ตัวที่สถานีสุวรรณภูมิ ซึ่งคาดว่าจำนวนลิฟต์ และบันไดเลื่อนในทั้ง 8 สถานีรวม 138 ตัว จะสามารถรองรับการใช้บริการของผู้โดยสารได้อย่างเพียงพอ
กำลังโหลดความคิดเห็น