ไม่ถือเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายแต่อย่างใดเมื่อ “กลุ่มเซ็นทรัล” ของตระกูล “จิราธิวัฒน์” สยายปีกการลงทุนด้านธุรกิจค้าปลีกในประเทศเวียดนามด้วยการร่วมกับ “กลุ่มเหงียนคิม” ของเวียดนาม เข้าซื้อกิจการ “บิ๊กซี” ในเวียดนามของ “กลุ่มกาสิโนกรุ๊ป” ประเทศฝรั่งเศส อย่างเป็นทางการด้วยมูลค่า 920 ล้านยูโร เมื่อปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
เพียงแต่การซื้อกิจการ “บิ๊กซี เวียดนาม” ของกลุ่มทุนไทยในครั้งนี้ค่อนข้าง “พลิกโผ” เพียงเล็กน้อย เพราะก่อนหน้านั้นมีการคาดการณ์กันว่า “กลุ่มบริษัท ทีซีซี คอร์ปอเรชั่น” ของ “เสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี” น่าจะเป็นผู้คว้าดีลนี้ไปครอง หลังจากที่ประสบความสำเร็จในการซื้อหุ้นของ “บิ๊กซี” ในประเทศไทยเมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ. 59 ด้วยมูลค่า 3.46 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยไม่น้อยกว่า 1.22 แสนล้านบาท
หากตั้งปริศนาว่า “เหตุใดกลุ่มทุนไทยจึงให้ความสนใจในธุรกิจค้าปลีกเวียดนาม ?”
ส่วนหนึ่งของคำตอบย่อมหนีไม่พ้นเรื่องการฉวยโอกาสและจังหวะขยายธุรกิจในยุคการเปิดเขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจและจีดีพีของเวียดนามที่เป็นไปอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 6.7% จึงถือเป็นขุมทองแห่งการลงทุนที่ต่างชาติพยายามหาช่องทางขยายโอกาสธุรกิจแขนงต่างๆ
แต่มูลเหตุใหญ่คือมูลค่าการตลาดรวมของธุรกิจค้าปลีกเวียดนามในปี 2559 ที่คาดว่าจะสูงถึง 8.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือว่าเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากปี 2553 ที่มีมูลค่าเพียง 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตในตัวเลขระดับ 2 หลักมาตลอด ขณะที่ธุรกิจโมเดิร์นเทรดในเวียดนามมีส่วนแบ่งการตลาดถึง 18% ของธุรกิจค้าปลีกรวมและยังมีโอกาสขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่ “บิ๊กซี” ถือเป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่ด้านโมเดิร์นเทรดในเวียดนามซึ่งได้ดำเนินการมายาวนานกว่า 18 ปี จนปัจจุบันมีทั้งสิ้น 43 สาขา แบ่งเป็นไฮเปอร์มาร์เกต 33 สาขา และคอนวีเนียนสโตร์ 10 สาขา โดยมีรูปแบบธุรกิจเป็นศูนย์การค้าถึง 30 แห่ง ทำให้ในปี 2558 สามารถทำยอดขายรวมได้ราว 586 ล้านยูโร
*** “กลุ่มทุนไทย” พาเหรดขยายลงทุน ***
การรุกคืบธุรกิจของกลุ่มทุนไทยในเวียดนามครั้งนี้แม้จะเป็นประเด็นใหญ่ที่อยู่ในความสนใจของหลายๆ ฝ่าย แต่กลับไม่ถือเป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะก่อนหน้านี้ยักษ์ใหญ่ธุรกิจไทยหลายๆ ค่ายต่างมีการวางพื้นฐานธุรกิจล่วงหน้าในเวียดนามมาแล้วเป็นเวลานาน ดังข้อมูลจากสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม ระบุว่า เมื่อ 25 ปีก่อน “ซีพี” เริ่มเข้าไปบุกเบิกธุรกิจอาหารและการเกษตรในเวียดนาม จนปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาดกว่า 20% จากมูลค่าตลาดรวม 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ
เช่นเดียวกับที่ “กลุ่มบริษัท SCG” เข้าไปควบรวมกิจการ (M&A) ด้านวัสดุก่อสร้าง กระดาษ และพลาสติกมากกว่า 20 แห่งในช่วงเวลาประมาณ 25 ปี จนล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2558 มีสินทรัพย์ในเวียดนามถึง 716 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะที่ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) หรือ “AMATA” เริ่มบุกเบิกโครงการนิคมอุตสาหกรรมในเมืองโฮจิมินห์เมื่อราว 20 ปีก่อน จนปัจจุบันมีการดำเนินงานใน 3 โครงการ คิดเป็นมูลค่ากว่า 635 ล้านเหรียญสหรัฐ
แม้แต่ “กลุ่มเซ็นทรัล” ก็มีการวางฐานธุรกิจในเวียดนามมาตั้งแต่ปี 2554 จนปัจจุบันนอกจากการดำเนินธุรกิจห้างสรรพสินค้า “Robins” 2 แห่งในเมืองโฮจิมินห์และฮานอยแล้ว ยังดำเนินธุรกิจร้าน “Supersports” รวมทั้งร้าน “Crocs” และ “New Balance” ในห้างสรรพสินค้าหรู “Vincom Center Ba Trieu” ในเมืองฮานอย โดยก่อนหน้าที่จะซื้อกิจการ “บิ๊กซี” ได้เข้าไปถือหุ้น 49% ใน “กลุ่มเหงียนคิม” ผู้นำด้านธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนาม ซึ่งมีเครือข่ายสาขาครอบคลุมถึง 25 แห่งทั่วประเทศ
ส่วน “กลุ่มบริษัท ทีซีซี คอร์ปอเรชั่น”ก็มีการเคลื่อนไหวในหลายธุรกิจภายใต้บริษัทต่างๆ อย่างต่อเนื่องและเห็นภาพชัดเจนมาตั้งแต่ปี 2556 เมื่อส่ง “ไทยเบฟ” เข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน “VinaMilk” ผู้นำด้านการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมในเวียดนาม รวมถึงการเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกและกระจายสินค้าด้วยการซื้อหุ้น 65% ของ “Phu Thai Grop” ซึ่งดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อ “แฟมิลี่ มาร์ท” ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น “B’s mart” ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ “BJC” พร้อมกับการซื้อธุรกิจค้าส่งสัญชาติเยอรมัน “Metro & Cash” ซึ่งมีจำนวน 19 สาขาในเวียดนามด้วยมูลค่า 879 ล้านเหรียญสหรัฐ
*** “เกาหลีใต้ - ญี่ปุ่น - สิงคโปร์” 3 ยักษ์ใหญ่ลงทุนในเวียดนาม ***
เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการต่างๆ ของกลุ่มทุนไทยเท่านั้น เพราะจากสถิติล่าสุดของสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม เมื่อเดือนธันวาคม 2558 ระบุว่า นักลงทุนต่างชาติจาก 3 ลำดับแรกที่มีการลงทุนสูงสุดในเวียดนามคือ เกาหลีใต้ ลงทุน 4,944 โครงการ ทุนจดทะเบียนรวม 4.49 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาคือญี่ปุ่น ลงทุน 2,883 โครงการ ทุนจดทะเบียนรวม 3.84 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ตามด้วยสิงคโปร์ มีการลงทุน 1,526 โครงการ ทุนจดทะเบียนรวม 3.47 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะที่ประเทศไทยมีการลงทุนในเวียดนามทั้งสิ้น 415 โครงการ ทุนจดทะเบียนรวม 7.36 พันล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นลำดับที่ 11 จาก 110 ประเทศที่มีการลงทุนสูงสุดในเวียดนาม และถือเป็นอันดับ 3 ของกลุ่มประเทศอาเซียนที่ลงทุนในเวียดนาม รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย
*** คาดไทยต่อยอดธุรกิจอื่นจาก “ค้าปลีก” ***
อย่างไรก็ดี การเข้าสู่ธุรกิจโมเดิร์นเทรดและค้าปลีกในเวียดนามของกลุ่มทุนไทยในช่วงที่ผ่านมาจวบจนปัจจุบันถือว่ามีสัดส่วนสูงราว 60% จนดูราวกับว่า “ไทยเป็นผู้ผูกขาดธุรกิจค้าปลีกในเวียดนาม” โดยปริยาย แต่ในความจริงแล้วกลับตรงกันข้าม เพราะนักลงทุนไทยซื้อกิจการของนักลงทุนต่างชาติที่มีการดำเนินงานในเวียดนามอยู่แล้ว โดยมิได้เข้าไปซื้อกิจการท้องถิ่นแต่อย่างใด
ในประเด็นดังกล่าว นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม ให้ความเห็นว่า การเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกในเวียดนามของนักลงทุนไทยถือเป็นส่วนสำคัญที่จะพัฒนาธุรกิจค้าปลีกเวียดนามให้ก้าวหน้าและเติบโตสูงขึ้นเช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกไทยในยุคเริ่มต้น เพราะปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกในอาเซียนที่มีความชำนาญและเชี่ยวชาญทั้งด้านการจัดการ บริหารงาน รวมถึงระบบการกระจายสินค้า และอื่นๆ
“การเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกเวียดนามของนักลงทุนไทยจึงไม่ได้เน้นที่จะจำหน่ายสินค้าไทยเป็นหลัก แต่ถือเป็นการต่อยอดไปยังธุรกิจอื่นๆ โดยเฉพาะธุรกิจลอจิสติกส์ด้านการขนส่งและกระจายสินค้าซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการกว่า 100 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนไต้หวันประมาณ 80% ส่วนอีก 20% เป็นนักลงทุนท้องถิ่น จึงคาดว่าในอนาคตอันใกล้นักลงทุนไทยจะมีการขยายการลงทุนในธุรกิจนี้เพิ่มมากขึ้น”
นายสนั่นกล่าวด้วยว่า โครงสร้างเศรษฐกิจของเวียดนามเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนเพราะการเพิ่มขึ้นของประชากรคนรุ่นใหม่ที่มีอายุ 15-20 ปีซึ่งมีจำนวนสูงถึง 70% ของประชากรทั้งหมด ประกอบกับอัตราการเติบโตของกลุ่มคนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อมีสูงถึง 20% ทำให้มีความสนใจสินค้าอุปโภค-บริโภคที่มีคุณภาพและความทันสมัยมากขึ้น โดยสินค้าไทยถือเป็น 1 ใน 3 สินค้านำเข้าลำดับต้นๆ ที่ชาวเวียดนามให้การยอมรับและนิยมใช้เมื่อเทียบกับสินค้าจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
*** เร่งเพิ่มมูลค่าการค้า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ***
ปัจจุบันสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังเวียดนาม 10 ลำดับแรก ได้แก่ 1. รถยนต์, อุปกรณ์และส่วนประกอบ 2. เม็ดพลาสติก 3. เคมีภัณฑ์ 4. เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ 5. เครื่องดื่ม 6. เหล็ก, เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 7. ผลไม้ (สด, แห้ง, แช่เย็น, แช่แข็ง) 8. ผลิตภัณฑ์ยาง 9. กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ 10. น้ำมันสำเร็จรูป คิดเป็นมูลค่ารวม 8,907 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตขึ้น 13%
ส่วนสินค้านำเข้า 10 ลำดับแรก ได้แก่ 1. เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน 2. เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ 3. น้ำมันดิบ 4. เหล็ก, เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ 5. สัตว์น้ำ (สด, แช่เย็น, แช่แข็ง, แปรรูป และกึ่งสำเร็จรูป) 6. ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ 7. เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 8. เครื่องคอมพิวเตอร์, อุปกรณ์และส่วนประกอบ 9. กาแฟ, ชา, เครื่องเทศ 10. ด้ายและเส้นใย คิดเป็นมูลค่ารวม 4,050 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตขึ้น 3%
นายสนั่นกล่าวเสริมว่า ในปี 2559 ถือเป็นวาระพิเศษที่ “ไทย-เวียดนาม” มีสัมพันธภาพทางการทูตครบ 40 ปี นายกรัฐมนตรีไทยและเวียดนามจึงมีดำริที่จะขยายมูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งสองจากปีละประมาณ 1.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปัจจุบัน เป็นปีละ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2563 (ค.ศ. 2020) พร้อมยกอันดับการลงทุนของธุรกิจไทยในเวียดนามให้ติดอันดับ 1 ใน 10 ของนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด
*** ผุดโครงการ Viet - Thai Commercial Center ***
แนวทางหนึ่งในการขยายมูลค่าการค้าให้ถึง 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐคือแผนจัดตั้งโครงการ “Viet - Thai Commercial Center” ซึ่งเป็นโครงการศูนย์การค้าไทย-เวียดนามครบวงจรในลักษณะคอมเพล็กซ์ที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนาม คิดเป็นมูลค่าโครงการรวมประมาณ 1 หมื่นล้านบาท โดยขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณารายละเอียดและขั้นตอนต่างๆ ในการดำเนินงานก่อนที่จะสรุปผลได้ภายในสิ้นปี 2559
นายสนั่นกล่าวว่า โครงการ Viet - Thai Commercial Center มีลักษณะเป็นการร่วมทุนระหว่างภาคเอกชนไทยกับเวียดนาม โดยรัฐบาลทั้งสองประเทศจะให้การสนับสนุนสิทธิประโยชน์พิเศษต่างๆ แก่ภาคเอกชนทั้งสองประเทศ โดยเบื้องต้นคาดว่าจะจัดตั้งโครงการฯ ที่เมืองโฮจิมินห์ ล่าสุดมีนักลงทุนท้องถิ่นที่ครอบครองที่ดินในเวียดนามนับ 1 พันไร่ ประมาณ 3 รายให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการ ขณะที่ฝ่ายไทยก็มีกลุ่มธุรกิจค้าปลีกและพัฒนาที่ดินหลายกลุ่มให้ความสนใจเช่นกัน ทั้งกลุ่มสยามพิวรรธน์, กลุ่มซีพี, กลุ่มทีซีซี เป็นต้น
สำหรับรูปแบบของโครงการฯ จะเป็นการส่งเสริมให้ธุรกิจเอสเอ็มอีไทยเข้าไปทำการค้าและลงทุนในธุรกิจที่ไทยมีประสบการณ์และความชำนาญ เช่น ธุรกิจอาหาร, จิวเวลรี, แฟชั่น, ยาและสมุนไพร, สปาและบิวตี้ รวมถึงคลินิกศัลยกรรมความงาม นอกจากนั้นยังจะใช้เป็นสถานที่ตั้งของสายการบิน บริษัทนำเที่ยว สถาบันการเงิน และหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงานฯ สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และอื่นๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่นักลงทุนทั้งสองประเทศ ขณะเดียวกันยังจะเป็นจุดศูนย์รวมธุรกิจต่างๆ ที่มีชื่อเสียงของเวียดนามด้วย
นายสนั่นกล่าวด้วยว่า ภายใต้โครงการ “Viet - Thai Commercial Center” ยังจะมีโครงการ “พี่จูงน้อง” ซึ่งเป็นโครงการจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างนักลงทุนไทยกับนักลงทุนเวียดนาม โดยมีนักลงทุนและธุรกิจไทยที่มีประสบการณ์การลงทุนในเวียดนาม เช่น กลุ่มซีพี, กลุ่มเอสซีจี, กลุ่มเซ็นทรัล, กลุ่มไทยเบฟ, บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) และอื่นๆ รวม 12 ราย ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้ธุรกิจเอสเอ็มอีและนักลงทุนไทยรุ่นใหม่ได้ร่วมทำการค้ากับนักลงทุนเวียดนาม
“ในโครงการพี่จูงน้อง เบื้องต้นได้ข้อสรุปให้บริษัทพี่เลี้ยงแต่ละรายทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ หรือ MOU กับบริษัทน้อง 3 ราย เป็นระยะเวลา 2 ปีเพื่อให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำทุกๆ ด้าน ทั้งการคัดเลือกทำเลที่ตั้งโรงงาน การหาแรงงาน การแนะนำแหล่งเงินทุน การทำตลาด การจับคู่ธุรกิจกับนักลงทุนเวียดนาม และอื่นๆ โดยคาดว่าภายในปี 2559 จะมีธุรกิจเอสเอ็มไทยเข้าไปลงทุนในเวียดนามประมาณ 1.8 พันล้านบาท”
หากโครงการ “Viet - Thai Commercial Center” เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้เมื่อใด ในช่วง 3-4 ปีแรกของการดำเนินงานอาจต้องอยู่ในช่วงภาวะขาดทุน หลังจากนั้นจึงจะเข้าสู่ภาวะคืนทุนและเริ่มมีอัตราการเติบโตตามลำดับ ทั้งยังอาจมีการขยายโครงการไปยังเมืองฮานอยเป็นลำดับต่อไป...นั่นย่อมหมายถึงมูลค่าการค้าและธุรกิจที่ทั้งไทยและเวียดนามจะได้รับร่วมกันอย่างมหาศาลในอนาคตอันไม่นานนี้ !