“นายกฯ” ห่วงอุบัติเหตุรถโดยสารระหว่างจังหวัดและจุดตัดรถไฟ สั่ง กรมการขนส่งฯ เรียกประชุมผู้ประกอบการ กำชับเข้มงวดความปลอดภัย ด้าน “คมนาคม” เดินหน้าติดตั้ง GPS รถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุก พร้อมเชื่อมระบบข้อมูลเข้าศูนย์ ควบคุมพฤติกรรมคนขับ โดยในปี 62 จะมีรถที่ติดตั้ง GPS มากกว่า 800,000 คันทั่วประเทศ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้รายงานความคืบหน้าโครงการ “มั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS” ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 24 พ.ค. ซึ่งเป็นมาตรการบังคับใช้ GPS กับรถสาธารณะ เป็นการใช้เทคโนโลยีมาควบคุม จำกัดความเร็วของรถทุกประเภทเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ ยังมีโครงการติดตั้งกล้องจับความเร็ว ซึ่งกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้ดำเนินการที่หนองคาย, อุดรธานี โครงการจับปรับทันที และมีการบันทึกในประวัติเมื่อมีการนำรถมาต่อทะเบียนภาษีประจำปีจะต้องชำระค่าปรับ
ทั้งนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงเนื่องจากช่วงนี้มีอุบัติเหตุของรถโดยสารสาธารณะวิ่งระหว่างจังหวัด, รถบรรทุกรถพ่วง และอุบัติเหตุที่บริเวณจุดตัดทางรถไฟบ่อยครั้ง จึงได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบกจัดประชุมผู้ประกอบการทั้งหมดเพื่อรับทราบถึงนโยบายและมาตรการความเข้มงวดต่างๆ ในการลดอุบัติเหตุ
ด้านนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า มาตรการบังคับใช้ GPS กับรถสาธารณะ กับรถที่จดทะเบียนใหม่ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2559 ทุกคันต้องมี GPS ทั้งรถโดยสาร รถขนส่งทุกประเภท ส่วนรถที่จดทะเบียนเดิม ขณะนี้รถของบริษัท บขส.จำกัด ได้ติด GPS ครบแล้ว ส่วนรถขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยสิ้นปี 2560 ได้กำหนดเพิ่มเติมกับรถลากจูงต้องติด GPS ทุกคัน และปี 2561 จะเพิ่มการบังคับไปที่รถบรรทุกสาธารณะ 10 ล้อขึ้นไป และปี 2562 รถบรรทุกส่วนบุคคลทุกชนิดจะมีการติด GPS ทั้งหมด
ซึ่งโครงการ “มั่นใจทั่วไทย รถใช้ GPS” ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นรถโดยสารสาธารณะ รถตู้ รถลากจูง และรถบรรทุกขนาดใหญ่ ต้องติดตั้ง GPS (เครื่องบรรทุกข้อมูลการเดินทางของรถ) เพื่อควบคุมและกำกับดูแลพฤติกรรมการขับรถของพนักงานขับรถในด้านการใช้ความเร็ว และชั่วโมงการทำงานให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด การใช้ใบอนุญาตขับรถที่ถูกต้อง โดยระบบ GPS จะมีระบบบ่งชี้ตัวตนของพนักงานขับรถด้วย อีกทั้งระบบ GPS ยังมีประโยชน์ในการพัฒนาด้านระบบลอจิสติกส์ และการบริหารจัดการเดินรถให้มีประสิทธิภาพ ลดการใช้พลังงาน
โดยมีระยะเวลาดำเนินการดังนี้ 1. รถโดยสารที่จดทะเบียนใหม่ตั้งแต่ 25 ม.ค. 2559 ต้องติดระบบ GPS ทั้งหมด
2. รถโดยสารสองชั้นที่จดทะเบียนก่อนปี 2556 ต้องติด GPS ก่อนการต่อภาษีปี 2559
3. รถโดยสารสาธารณะที่มี GPS แล้ว ต้องเชื่อมโยงข้อมูลกับฐานข้อมูลกรมการขนส่งทางบกภายในปี 2559
4. รถโดยสารสาธารณะที่ยังไม่ติด GPS ต้องติดตั้งก่อนการต่อภาษีปี 2560
5. รถลากจูง รถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป ที่จดทะเบียนใหม่ตั้งแต่ 25 ม.ค. 2559 ต้องติด GPS ทันที
6. รถลากจูง รถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป ที่ติด GPS แล้วต้องเชื่อมโยงข้อมูลกับฐานข้อมูลกรมการขนส่งทางบกภายในปี 2559
7. รถลากจูง จดทะเบียนก่อนปี 2559 ที่ยังไม่ติด GPS ต้องติดตั้งก่อนการต่อภาษีปี 2560
8. รถบรรทุกสาธารณะ 10 ล้อขึ้นไปที่จดทะเบียนก่อนปี 2559 ที่ยังไม่ติด GPS ต้องติดตั้งก่อนต่อภาษีปี 2561
9. รถบรรทุกส่วนบุคคล 10 ล้อขึ้นไปที่จดทะเบียนก่อนปี 2559 ที่ยังไม่ติด GPS ต้องติดตั้งก่อนต่อภาษีปี 2561
โดยขณะนี้มีรถบรรทุกและรถโดยสารที่เชื่อมต่อข้อมูลการเดินรถกับศูนย์ GPS ของกรมการขนส่งทางบกแล้วประมาณ 59,000 คัน ซึ่งเมื่อครบกำหนดในปี 2562 จะมีรถที่ติดตั้ง GPS มากกว่า 800,000 คันทั่วประเทศ