โครงการจัดหาและพัฒนาระบบพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลาง กรมการขนส่งทางบก ส่งกลิ่นหึ่ง เริ่มโครงการตั้งแต่ปี 55 จนวันนี้ยังไม่เสร็จ เผยขยายเวลาให้ 2 รอบรวม 244 วัน แต่ก็ยังค้างเติ่ง ที่ปรึกษา มจธ. กางระเบียบพัสดุชี้ชัด เข้าหลักบอกเลิกสัญญานานแล้ว แต่ “บิ๊กในกรม” กลับเรียกประชุม คกก. หาช่องลดค่าปรับ - เวลาเกินสัญญา ชี้ เอื้อเอกชนชัดจากเดิมเกินไปแล้วมากกว่า 270 วัน ตัดเหี้ยน 251 วัน อ้างเป็นช่วงที่ส่งมอบงานให้กรมฯ แล้ว วิจารณ์แซ่ดเจอเรียก 40% จนทำงานส่งตามสเปกไม่ได้
รายงานข่าวจาก กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม แจ้งว่า ขณะนี้ได้เกิดความผิดปกติขึ้นในโครงการจัดหาและพัฒนาระบบพัฒนาระบบฐานข้อมูลกลาง (Master Data Management : MDM) วงเงินงบประมาณ 412 ล้านบาทเศษ ซึ่งเป็นโครงการจัดซื้อจัดจ้างขนาดใหญ่ และมีความสำคัญต่อการปฏิบัติงานของกรม ในการบูรณาการข้อมูลสนับสนุนการให้บริการของกรม เพื่อรองรับปริมาณงาน และปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยระบบที่ถูกพัฒนาขึ้นในโครงการ MDM ครอบคลุมการจัดเก็บข้อมูลหลักฐานของกรมการขนส่งทางบกทั้งหมด ได้แก่ ข้อมูลทะเบียนรถ ทะเบียนใบอนุญาตขับขี่ประเภทต่าง ๆ ตลอดจนข้อมูลของผู้ประกอบการรถยนต์ และเครื่องยนต์ เป็นต้น โดยโครงการ MDM นี้ ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงปี 2555 โดยกรมได้ประกาศประกวดราคา จนได้ผู้ชนะคือ บริษัท ซีดีจี ซิสเต็มส์ จำกัด (บ.ซีดีจี) ในวงเงิน 412,900,000 บาท ก่อนที่จะมีการลงนามในสัญญาว่าจ้างเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 55 มีระยะสัญญางาน 780 วัน สิ้นสุดสัญญาวันที่ 17 พ.ย. 57
อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันทาง บ.ซีดีจี ยังไม่สามารถส่งมอบงานให้กับทางกรมได้ตามระยะเวลาที่สัญญากำหนด โดย บ.ซีดีจี ได้มีการยื่นคำร้องขอขยายเวลา และได้รับอนุมัติจากทางกรม จำนวน 2 ครั้ง โดยอ้างถึงอุปสรรคจากการสถานการณ์ชุมนุมทางการเมือง ที่มีการปิดล้อมสำนักงานกรม ทำให้ไม่สามารถเข้าสถานที่เพื่อปฏิบัติงานได้ รวมการขยายเวลา 2 ครั้ง ทั้งสิ้น 244 วัน สิ้นสุดการขยายสัญญาในวันที่ 19 ก.ค. 58 แต่ที่สุดแล้ว บ.ซีดีจี สามารถส่งมอบงานได้เพียงบางส่วนเท่านั้น
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 11 พ.ย.58 กรมได้มีหนังสือแจ้งไปยังหัวหน้าส่วนพัสดุและแผ่นป้ายทะเบียนรถ อ้างถึงการประชุมติดตามสถานการณ์ดำเนินโครงการ MDM เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 58 ซึ่งที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่ได้ให้ความเห็นอ้างอิงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ข้อ 138 ระบุว่า “ในกรณีคู่สัญญาไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญา หรือข้อตกลงได้ และจะต้องมีการปรับตามสัญญา หรือข้อตกลงนั้น หากจำนวนเงินค่าปรับเกินร้อยละ 10 ของวงเงินค่าพัสดุ หรือค่าจ้าง ให้ส่วนราชการพิจารณาดำเนินการบอกเลิกสัญญา หรือข้อตกลง เว้นแต่คู่สัญญาจะยินยอมเสียค่าปรับให้แก่ทางราชการ โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น ให้ส่วนราชการพิจารณาผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญาได้เท่าที่จำเป็น”
ต่อมาเมื่อวันที่ 16 พ.ย. 58 บ.ซีดีจี ได้ทำหนังสือแจ้งหัวหน้าส่วนพัสดุและแผ่นป้ายทะเบียนรถ เรื่องการเรียกค่าปรับตามสัญญา จากหนังสือกรมการขนส่งทางบก ที่ คค.0416.6 / 12752 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ได้แจ้งเรียกค่าปรับในอัตราวันละ 412,900 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันครบกำหนดส่งมอบ ซึ่ง บ.ซีดีจี ก็ยินยอมเสียค่าปรับโดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น และขอให้พิจารณาผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญา ซึ่งต่อมามติที่ประชุมของกรม เห็นควรผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญา โดยให้เหตุผลว่า บ.ซีดีจี ยังคงดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ละเลยการปฏิบัติงาน แสดงถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานให้แล้วเสร็จ พร้อมกับให้บริษัทไปจัดทำแผนที่ชัดเจนเสนอให้กรมโดยเร็ว ภายใน 7 วัน
ทั้งนี้ เมื่อคำนวณการเรียกค่าปรับ นับตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. 58 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการขยายเวลาครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบันประมาณ 9 เดือนเศษ หรือมากกว่า 270 วัน หากคำนวณค่าปรับที่ บ.ซีดีจี ต้องชำระให้แก่กรมเป็นเงินมากถึง 111 ล้านบาทเศษ ซึ่งเกินกว่าร้อยละ 10 ของวงเงินโครงการ หรือหากคำนวณในแง่ของระยะเวลาก็จะครบกำหนด 100 วัน ไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 58 ทั้งสองกรณีเข้าหลักเกณฑ์การบอกเลิกสัญญาได้ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ข้อ 138
จากการตรวจสอบความคืบหน้าของโครงการ MDM ซึ่งได้กำหนดการส่งมอบงานเป็น 7 งวด พบว่า บ.ซีดีจี ได้มีการส่งมอบงานผ่านการตรวจรับและเบิกจ่ายเงินไปแล้ว 4 งวด คิดเป็นงบประมาณจำนวน 281 ล้านบาทเศษ ยังเหลืออีก 3 งวดที่ได้มีความพยายามส่งมอบงาน แต่ไม่ผ่านการตรวจรับของคณะกรรมการ คิดเป็นงบประมาณจำนวน 131 ล้านบาทเศษ โดยครั้งล่าสุด บ.ซีดีจี ได้ส่งมอบงานเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 59 แต่ไม่ผ่านการตรวจรับของคณะกรรมการเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 59 ซึ่งในส่วนนี้ได้มีการส่งงานและตรวจรับมาแล้วหลายครั้ง แต่ บ.ซีดีจี ก็ยังไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขให้ครบถ้วนได้ตามขอบเขตของระบบ จากนั้น บ.ซีดีจี ได้มีการส่งเอกสารแนวทางการปรับปรุงคุณภาพข้อมูลไปยังกรมฯเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 59 และได้ดำเนินการแก้ไขจนแจ้งส่งงานจำนวน 1 งวด แก่ทางกรม เมื่อช่วงเดือน มี.ค. 59 แต่ทางกรมยังไม่สามารถตรวจรับงานได้ เนื่องจากเป็นส่วนงานที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวกับการโอนย้ายข้อมูลกับงานในอีก 2 งวดที่เหลือ
แหล่งข่าวจากรมการขนส่งทางบก แจ้งว่า ในขณะที่การดำเนินโครงการของ บ.ซีดีจี ยังไม่มีทีท่าว่าจะแล้วเสร็จ แทนที่ทางกรมจะพิจารณาบอกเลิกสัญญาตามหลักเกณฑ์ในระเบียบพัสดุฯ แต่กลับมีการประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางผ่อนปรนการบอกเลิกสัญญา โดยมีการคำนวณจำนวนวันเพื่อคิดค่าปรับตามเงื่อนไขสัญญา และเห็นชอบให้คำนวณเวลาเฉพาะช่วงที่อยู่ในการดำเนินงานของ บ.ซีดีจี และตัดช่วงวันที่อยู่ในการดำเนินงานของกรมฯออก เพื่อลดค่าปรับให้แก่ทาง บ.ซีดีจี จากเดิมที่คิดวันที่เกินระยะเวลาของสัญญาจากวันที่ 20 ก.ค. 58 ถึงวันที่ 15 มี.ค. 59 รวม 240 วัน แต่ให้หักช่วงวันที่อยู่ในการดำเนินงานของกรมฯออกหลายช่วง ซึ่งก็คือช่วงที่กรมฯรับมอบงานมาตรวจในแต่ละครั้ง ตรงนี้มีเจตนาให้พ้นจากหลักเกณฑ์บอกเลิกสัญญาตามในระเบียบพัสดุฯอย่างชัดเจน
ผู้สื่อข่าวแจ้งว่า ในรายงานการประชุมติดตามสถานการณ์ดำเนินโครงการ MDM เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 59 ได้ระบุว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบวิธีคิดช่วงวันที่อยู่ในการดำเนินงานของกรม เมื่องดลดค่าปรับให้แก่ บ.ซีดีจี ดังนี้ 1. งานงวดที่ 3 นับจากวันที่ 17 ต.ค. 57 ถึงวันที่ 20 พ.ย. 57 คิดเป็น 35 วัน และ 2. งานงวดที่ 4 อยู่ในการดำเนินงานของกรม 6 ช่วง ดังนี้ ช่วงที่ 1 นับจากวันที่ 23 ธ.ค. 57 ถึงวันที่ 14 พ.ค. 58 คิดเป็น 143 วัน ช่วงที่ 2 นับจากวันที่ 25 ส.ค. 58 ถึงวันที่ 3 ก.ย. 58 คิดเป็น 10 วัน ช่วงที่ 3 นับจากวันที่ 16 ก.ย. 58 ถึงวันที่ 28 ก.ย. 58 คิดเป็น 13 วัน ช่วงที่ 4 นับจากวันที่ 16 ต.ค. 58 ถึงวันที่ 26 พ.ย. 58 คิดเป็น 42 วัน ช่วงที่ 5 นับจากวันที่ 8 ม.ค. 59 ถึงวันที่ 25 ม.ค. 59 คิดเป็น 18 วัน และช่วงที่ 6 นับจากวันที่ 16 ก.พ. 59 ถึงวันที่ 11 มี.ค. 59 คิดเป็น 25 วัน รวมเฉพาะของงานงวดที่ 4 เท่ากับ 251 วัน
“จากการคิดคำนวณแบบนี้ก็จะเท่ากับว่า บ.ซีดีจี ส่งมอบงานล่าช้าเพียงเล็กน้อย เพราะนับจากวันสิ้นสุดการขยายเวลาครั้งที่ 2 จนถึงตอนนี้ รวมแล้วมากกว่า 270 วัน แต่กรมกลับให้หักวันที่อยู่ในการดำเนินการของกรมออกถึง 251 วัน ซึ่งย้อนไปตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ทั้งที่เป็นคนละส่วนกัน เมื่อเป็นแบบนี้แล้วก็เท่ากับว่ากรมฯยอมเสียประโยชน์จากการดำเนินงานของเอกชนที่ล่าช้า ทั้งที่ระบบ MDM ควรได้นำมาใช้ตั้งแต่ปี 2557 แล้ว เนื่องจากระบบเดิมที่ใช้อยู่ตอนนี้ล้าสมัยและมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก ในขณะที่ข้อมูลของกรมมีจำนวนมากขึ้นทุกวัน ที่สำคัญ ดูแนวโน้มจากการส่งมอบงานในส่วนที่มีปัญหาแล้ว ก็ใช่ว่าลดวันในการเสียค่าปรับแล้ว ทาง บ.ซีดีจี จะสามารถทำงานส่วนนี้เสร็จสมบูรณ์ได้” แหล่งข่าวจากกรมการขนส่งทางบก ระบุ
สำหรับงานในงวดที่ 4 ซึ่งมีปัญหานั้น จากข้อมูลพบว่าเป็นงานที่เกี่ยวกับการสื่อสารภายในองค์กร การให้บริการแบบ e-service ระบบแผนที่ข้อมูล และการโอนย้ายข้อมูล เมื่อประเมินจากการส่งมอบงานในส่วนนี้ถึง 6 ครั้งแต่คณะกรรมการยังไม่สามารถตรวจรับงานได้ จึงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ว่า ในช่วงการประกวดราคานั้น ทางฝ่ายการเมืองได้เรียกรับผลประโยชน์เป็นจำนวนมากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ในสมัยนั้น จนทำให้ บ.ซีดีจี ไม่สามารถดำเนินการได้ตามสเปคที่กำหนดไว้