“กบง.” เคาะแนวทางส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลบี 10 เชิงพาณิชย์ในปี 2561 โดยใช้เทคโนโลยี H-FAME เตรียมนำร่องในรถหน่วยงานราชการและทหารปี 2560 ก่อน โดยต้องไปจัดทำโครงสร้างราคา รวมถึงเจรจาคลังถึงโครงสร้างภาษีรถบรรทุกและกระบะเอื้อการผลิตและใช้
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 17 พ.ค.ว่า กบง.เห็นชอบแนวทางการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไบโอดีเซลที่ปัจจุบันมีการกำหนดสัดส่วนผสมไบโอดีเซล (บี100) ในดีเซลไม่เกิน 7% หรือ บี7 โดยให้นำร่องการใช้บี 10 ในหน่วยงานราชการและทหารในปี 2560 เพื่อที่จะกำหนดกรอบเวลาในการขายเชิงพาณิชย์ให้เป็นทางเลือกของประชาชนได้ภายในปี 2561 ซึ่งจะต้องมีการนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต่อไป
“กบง.กำหนดให้มีการขยายผลการศึกษาเพื่อปรับปรุงคุณภาพการผลิตไบโอดีเซลด้วยเทคโนโลยี H-FAME เพื่อรองรับการใช้บี 100 ในสัดส่วนที่สูงขึ้นซึ่งเทคโนโลยีนี้จะสามารถใช้กับรถทุกรุ่นได้ รวมถึงยังต้องพิจารณาโครงสร้างภาษีสรรพสามิตสำหรับรถบรรทุกและรถกระบะที่จะใช้กับไบโอดีเซลบี 10 เพื่อจูงใจผู้ผลิตรถยนต์และผู้ใช้ก่อนมีผลในปี 2561 และการขายในปี 2561 หน้าปั๊มน้ำมันเราก็จะเปิดเป็นทางเลือกโดยยังคงบี7 อยู่ ถ้าตลาดไปได้ที่สุดก็จะยกเลิกบี7 แต่ถ้าเทคโนโลยีดูแล้วราคาแพงไปไม่ได้ก็คงต้องมาว่ากันใหม่” นายทวารัฐกล่าว
นอกจากนี้ยังต้องศึกษาแนวทางการกำหนดโครงสร้างราคาไบโอดีเซลบี 10 เพื่อสนับสนุน จูงใจให้เกิดการใช้อย่างเป็นรูปธรรม โดยอาจจะใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ และภาษีสรรพสามิตเข้ามาดูแลราคา เป็นต้น ซึ่งแนวทางดังกล่าวเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลที่ 14 ล้านลิตรต่อวันภายในปี 2579 ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2558-2579 (AEDP2015)
ขณะเดียวกัน กบง.ยังเห็นชอบยกเว้นค่าธรรมเนียมในการตรวจสอบด้านเครื่องวัดไฟฟ้า (มิเตอร์) สำหรับโครงการนำร่อง (Pilot Project) การส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟเสรี จำนวน 100 เมกะวัตต์เพื่อจูงใจเข้าร่วมโครงการ โดยให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านควรหลวง (กฟน.) รับภาระ ซึ่งบ้านอาศัยค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 10,000 บาทต่อราย อาคารธุรกิจหรือโรงงานอยู่ที่ 15,000 บาทต่อราย คิดเป็นค่าใช้จ่ายรวม 50 ล้านบาท