กระทรวงอุตสาหกรรมชงแผนงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทุ่มงบ/โครงการกว่าครึ่งพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคตเพื่อสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคง
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผยถึงแผนงานในภารกิจหลักของกระทรวงอุตสาหกรรมระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ซึ่งส่งให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีรวบรวมนำเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) โดยแผนงานของกระทรวงฯ ที่เสนอไปแบ่งเป็น 4 ช่วง โดยแต่ละช่วงมีระยะ 5 ปี โดยแผนงานที่มีจำนวนโครงการและงบประมาณมากที่สุดคิดเป็น 50% คือ แผนงานการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพและคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต
โดยกำหนดเป้าหมายในระยะที่ 1 (พ.ศ. 2560-2564) คือ พัฒนาขีดความสามารถและส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมศักยภาพให้ลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2565-2569) ขยายเครือข่ายการผลิตสู่ต่างประเทศและเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการผลิตในภูมิภาค ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2570-2574) อุตสาหกรรมศักยภาพเป็นที่ยอมรับในภูมิภาค ระยะที่ 4 (พ.ศ. 2575-2579) อุตสาหกรรมศักยภาพก้าวสู่การผลิตชั้นนำของโลกและเป็นที่ยอมรับในตลาดสากล
นอกจากนี้ยังกำหนดเป้าหมายของอุตสาหกรรมศักยภาพฯ ที่ภาครัฐส่งเสริมเป็นอุตสาหกรรมอนาคตของไทย จำนวน 12 สาขา ประกอบด้วย (1) อุตสาหกรรมแม่พิมพ์ (2) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (3) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ (4) อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (5) อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป (6) อุตสาหกรรมเหล็กและโลหการ (7) อุตสาหกรรมแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ (8) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (9) อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์โทรคมนาคม (10) อุตสาหกรรมการบินและลอจิสติกส์ (11) อุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และ (12) อุตสาหกรรมเซรามิก ซึ่งทั้ง 12 สาขาดังกล่าวจะมีโครงการและงบประมาณสนับสนุน
แผนงานส่วนใหญ่จะตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถการแข่งขัน โดยมี 6 แผนงานหลัก ส่วนใหญ่มุ่งเน้นในเรื่องแผนงานการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพและคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต รองลงมาคือ 2. แผนงานยกระดับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลก เป้าหมายในช่วงระยะ 5 ปีแรกนี้คือการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงนวัตกรรม 3. แผนงานการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรม มีการตั้งเป้าหมายผลิตภาพการผลิตรวม/ผลิตภาพแรงงานภาคอุตสาหกรรมที่ต้องสูงขึ้น 3% ต่อปี และ 5% ต่อปีตามลำดับ
4. แผนงานยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางมาตรฐานในอาเซียน เป้าหมายในช่วงแรกเป็นการโครงสร้างพื้นฐานด้านการตรวจสอบรับรองอุตสาหกรรมเป้าหมายให้เพียงพอต่อความต้องการ และระบบการรับรองมาตรฐานของไทยได้รับการยอมรับในระดับสากล 5. แผนงานการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ เป้าหมายช่วงแรกคือมีพื้นที่รองรับจำนวน 5 แห่ง และ 6. แผนงานการยกระดับการบริหารจัดการลอจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานในภาคอุตสาหกรรม เป้าหมายลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการมูลค่าไม่น้อยกว่า 12,500 ล้านบาท