กระทรวงอุตสาหกรรม จัดตั้งสำนักงานประสานการพัฒนาพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (สปพ.) ขึ้นเป็นการภายในสำนักงานปลัดกระทรวง มอบ “นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม” ผู้ว่าฯ กนอ.รับหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักฯ อีกหน้าที่หนึ่ง ระหว่างรอ พ.ร.บ.พัฒนาเขต ศก.พิเศษพ.ศ. ... ผ่าน ครม. และสนช.
นายอาทิตย์ วุฒิคะโร ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีคำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ 88/2559 ลงวันที่ 21 มีนาคม 2559 จัดตั้งสำนักงานประสานการพัฒนาพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (สปพ.) ขึ้นเป็นการภายในสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และที่ประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (คบพ.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มอบหมายให้ นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มาปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานฯ อีกหน้าที่หนึ่ง
“สำนักงานประสานการพัฒนาพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำข้อเสนอยุทธศาสตร์ และแนวทางในการบริหารพัฒนาพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ประสานงานกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนให้คำแนะนำในการดำเนินโครงการฯ ติดตาม ประเมินผล ความก้าวหน้าของการดำเนินงานเสนอต่อ คนพ. และ คบพ. รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุน และทำความเข้าใจต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน และประชาชนในพื้นที่ให้มีส่วนร่วมในการบริหารพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยสำนักงานฯ มีการแบ่งงานออกเป็น 4 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายอำนวยการและบริหารทั่วไป ฝ่ายยุทธศาสตร์ ฝ่ายการตลาด และฝ่ายติดตามและประเมินผล โดยขณะนี้มีอัตรากำลัง 15 คน” นายอาทิตย์ กล่าว
สำหรับเจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติงานที่สำนักงานฯ ส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าหน้าที่ของ กนอ. และกระทรวงอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม คบพ.เห็นว่าเพื่อให้การขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลสัมฤทธิผล และเป็นรูปธรรม หากมีความจำเป็นก็สามารถยืมตัวเจ้าหน้าที่จากส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมได้ โดยสถานที่ของสำนักงานฯ นั้นได้จัดไว้ทั้งที่ในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ชั้น 4 และที่ กนอ. ชั้น 5
“ระยะต่อไปหากพระราชบัญญัติเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. ... ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว ภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าวได้กำหนดให้จัดตั้ง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อเป็นหน่วยงานหนึ่งในการขับเคลื่อนการลงทุนใหม่ๆ ของประเทศ ซึ่งไม่ใช่เพียงอุตสาหกรรมการผลิตอย่างเดียว แต่จะมีลักษณะเป็นเมืองที่ครบวงจรมากขึ้น เช่น การค้า การบริการ สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค โดยการลงทุนส่วนใหญ่ที่จะเข้ามาจะมี 2 แบบ คือ 1.ลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ เน้นการสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่การผลิต (Value Chain) และ 10 อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งจะอยู่ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในเชิงยุทธศาสตร์ของอุตสาหกรรมเฉพาะอย่าง และ 2.ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน เพื่อใช้ประโยชน์ และโอกาสของการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น แรงงานและวัตถุดิบ เพื่อเข้าสู่ตลาดอาเซียน และตลาดโลก” ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว