“พาณิชย์” ยันไทยต้องปรับปรุงกฎระเบียบด้านการค้า การลงทุนใหม่รองรับนโยบายประเทศไทย 4.0 ไม่ใช่ทำเพื่อเข้าร่วมข้อตกลง TPP ส่วนการเข้าร่วม TPP เปิดทางผู้ที่ยังมีความกังวลเข้าหารือ ให้ข้อเสนอแนะ ก่อนรวบรวมเสนอรัฐบาลพิจารณา พร้อมเร่งปัญญาภิวัฒน์ปรับผลการศึกษาใหม่ให้สอดคล้องต่อข้อตกลงปัจจุบัน เผยเบื้องต้น เคาะไทยได้มากกว่าเสีย ช่วยเศรษฐกิจโต ดึงดูดลงทุนเพิ่ม
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์มีแผนที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ประเทศ โดยได้ทำการศึกษาการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบทางการค้า การลงทุนที่ล้าสมัย และไม่สอดคล้องต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพื่อผลักดันให้เข้าสู่แผนประเทศไทย 4.0 ตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งไทยจะต้องมีการปรับปรุงกฎระเบียบให้มีความทันสมัย แต่ไม่ใช่ทำเพื่อรองรับการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ตามที่มีหลายๆ ฝ่ายแสดงความกังวล
“ไทยจำเป็นต้องปรับปรุงกฎระเบียบทางการค้าให้มีความทันสมัย เพราะเราจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม TPP ไทยก็ต้องมีการปรับปรุงอยู่แล้ว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ประเทศ และยิ่งรัฐบาลมีแผนผลักดันประเทศไปสู่ประเทศไทย 4.0 ก็ยิ่งต้องมีการปรับมาตรฐานประเทศไทยให้ดีขึ้น เพื่อดึงดูดการค้า การลงทุนให้เข้ามา” นางอภิรดี กล่าว
นางอภิรดี กล่าวว่า สำหรับการพิจารณาเข้าร่วมความตกลง TPP ขณะนี้กระทรวงฯ กำลังอยู่ระหว่างการหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน โดยเปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคมที่ยังมีความกังวลได้เข้ามาแจ้งความกังวลว่าอยู่ตรงไหน มีปัญหาอะไร และมีข้อเสนอ หรือมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างไร เพื่อที่จะได้รวบรวมเป็นข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อประกอบการตัดสินใจต่อไป
ส่วนผลการศึกษาข้อดี ข้อเสียในการเข้าร่วม TPP ของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ที่ได้มีการศึกษาในเบื้องต้นเสร็จแล้วนั้น ได้ขอให้ไปปรับปรุงใหม่ให้ทันสมัย เพราะผลการศึกษาได้ยึดข้อมูลเดิมก่อนที่สมาชิก TPP ทั้ง 12 ประเทศจะได้บรรลุข้อตกลงร่วมกัน โดยรายละเอียดในข้อตกลงบางประเด็นได้มีการปรับปรุงใหม่ จึงต้องมีการศึกษาใหม่ให้สอดคล้องต่อข้อตกลงที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
“ตอนที่ทำการศึกษายังไม่ได้รายละเอียดของข้อตกลง TPP ทั้งหมด แต่พอทำเสร็จก็ได้ข้อตกลง TPP ทั้งหมดมาดูพอดี ซึ่งเมื่อดูแล้ว พบว่า ในหลายๆ ประเด็นมีการปรับเงื่อนไข รายละเอียดลงมาเยอะ ไม่ได้เข้มข้นเหมือนที่คิดไว้ จึงได้ขอให้ปัญญาภิวัฒน์ไปปรับปรุงผลการศึกษาให้สอดคล้องต่อข้อตกลงปัจจุบัน และขอให้ทำให้เร็ว เพราะจะต้องนำข้อมูลเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ในเดือน มิ.ย.นี้” นางอภิรดี กล่าว
สำหรับผลการศึกษาของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ในเบื้องต้น พบว่า หากไทยเข้าร่วม TPP จะเกิดผลดีต่อไทยมากกว่าผลกระทบ โดยจะช่วยให้เศรษฐกิจของไทยมีการขยายตัวได้เพิ่มขึ้น และยังช่วยยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้า และบริการของไทยให้สูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องต่อแนวทางการพัฒนาประเทศ รวมทั้งช่วยในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย โดยที่นักลงทุนจะยังคงใช้ไทยเป็นฐานในการลงทุนต่อไป ไม่หันไปลงทุนในประเทศคู่แข่ง