xs
xsm
sm
md
lg

โซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ 167 ราย ลุ้นจับสลากพรุ่งนี้ กกพ.ย้ำโปร่งใส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“เรกูเลเตอร์” ยึด “หลักเกณฑ์” ประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเฉพาะโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์ภาคการเกษตร เหลือ 167 ราย (เฉพาะสหกรณ์ภาคการเกษตร) รวม 798.62 เมกะวัตต์ พร้อมเดินหน้าจับสลากจากผู้ที่ผ่านคุณสมบัติรอบแรกต่อหน้าสักขีพยานในวันที่ 21 เมษายนนี้


นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยความคืบหน้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) สำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตรว่า วันที่ 21 เม.ย.นี้ กกพ.จะดำเนินการจับสลากผู้ยื่นคำขอที่ผ่านคุณสมบัติทั้งสิ้น 167 ราย ขายไฟประมาณ 798.62 เมกะวัตต์ ทั้งหมดเป็นหน่วยงานสหกรณ์เท่านั้นจากเป้าหมายที่จะรับซื้อไฟ 300 เมกะวัตต์ซึ่งยังคงสูงกว่าเป้าหมายที่ กกพ.กำหนดไว้

ทั้งนี้ ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติต้องนำเอกสารใบรับคำขอที่ได้รับในวันสมัครไปแสดงตนเพื่อลงทะเบียนในเวลา 08.00-09.30 น. ก่อนทำการจับสลากตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และสำนักงาน กกพ.จะประกาศผลการคัดเลือกในเบื้องต้นหลังจากจับสลากทุกโครงการแล้วเสร็จ และประกาศผลการคัดเลือกอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 เมษายน 2559 ทั้งนี้ เจ้าของโครงการจะต้องดำเนินการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (SCOD) ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2559โดยผู้สนใจติดตามรายละเอียดหลักเกณฑ์การจับสลากเพิ่มเติมได้ที่ www.erc.or.th

“จำนวนสหกรณ์ภาคการเกษตรที่ไม่ผ่านคุณสมบัติ 67 รายนั้น จากการตรวจสอบเอกสารหลักฐานที่ได้ยื่นมา พบว่ามีหลายสาเหตุที่ไม่ผ่านคุณสมบัติการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ที่ กกพ.กำหนดไว้ เช่น ไม่ผ่านมาตรฐานสหกรณ์ ที่ตั้งโครงการไม่ได้อยู่ในแดนดำเนินการของสหกรณ์ หรือหนังสือแจ้ง Feeder ระบุชื่อผู้ขอตรวจสอบไม่ตรงตามคำขอ เป็นต้น ส่วนหน่วยงานราชการทั้งหมดที่ไม่ผ่านคุณสมบัติ 370 ราย สาเหตุสำคัญที่ไม่ผ่านคุณสมบัติการคัดเลือกก็เนื่องจากไม่พบเอกสารหลักฐานว่าได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 พ.ย. 58 ตามหลักเกณฑ์ที่ กกพ.ได้กำหนดไว้” นายวีระพลกล่าว

นอกจากนี้ กรณีประเด็นคุณสมบัติของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ แม้จะไม่ใช่ส่วนราชการ แต่ยังถือได้เป็นหน่วยงานของรัฐ จึงต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ รวมถึงกรณีสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งมีฐานะเป็นหน่วยงานราชการ ได้ใช้ที่ดินของวัดร้าง ศาสนสมบัติกลาง หรือที่ดินที่บริจาค เพื่อดำเนินโครงการนั้น ก็ยังคงต้องพิจารณาตามหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้มีกลุ่มสหกรณ์ฯ บางส่วนได้เตรียมที่จะยื่นต่อศาลปกครองเพื่อขอให้คุ้มครองชั่วคราวเพื่อให้เลื่อนการจับสลากออกไปเนื่องจากเห็นว่าการคัดเลือกคุณสมบัติดังกล่าวยังมีความข้องใจที่ทำให้บางสหกรณ์ฯ ไม่ได้รับการเลือกให้ผ่านคุณสมบัติแต่ที่สุดกลุ่มดังกล่าวก็เลือกที่จะไม่ไปยื่นฟ้องร้องโดยขอดูการจับสลากในวันดังกล่าวอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น