“พาณิชย์” เตรียมชง นบข.ขออนุมัติจัดตั้ง “สถาบันการพาณิชย์ข้าว” หวังดึงคนเก่งเข้ามาช่วยทำการวิจัยพัฒนาข้าวไปสู่การเป็น “ซูเปอร์ ฟูดส์” ป้อนความต้องการของตลาดโลก คาดช่วยไทยพ้นกับดักผลิตแต่สินค้าขั้นปฐมไปสู่การผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม และยังช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้เกษตรกรไทย
น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์จะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาอนุมัติการจัดตั้งสถาบันการพาณิชย์ข้าว เพื่อทำหน้าที่วิจัยและพัฒนาข้าวไทยไปสู่การเป็นซูเปอร์ฟูดส์ โดยจะของบประมาณในการจัดตั้งประมาณ 600 ล้านบาทเพื่อขับเคลื่อนสถาบัน และหากได้รับการอนุมัติก็จะดำเนินการจัดตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 5-6 เดือน
ทั้งนี้ แนวทางในการจัดตั้งสถาบัน จะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) เพื่อมาช่วยคิดว่าจะจัดตั้งในรูปแบบใด เพราะจะให้บริหารแบบราชการคงไม่ได้ เพราะสถาบันนี้ต้องใช้คนเก่ง คนมีความสามารถ และต้องมีค่าตอบแทนที่สูงพอที่จะดึงคนเหล่านี้เข้ามาทำงาน และให้มาทำการวิจัยพัฒนาข้าวไปสู่การเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของโลก
“ถ้า นบข.เอาด้วยสถาบันนี้เกิดแน่ เพราะจริงๆ ต้องเกิดมาตั้งแต่ปีก่อน แต่ที่ผ่านมา ไปทำเรื่องระบายข้าว ทำเรื่องการวางระบบการบริหารจัดการข้าวครบวงจร ซึ่งตอนนี้ก็มีความชัดเจนหมดแล้ว จึงต้องเริ่มมาวางอนาคตให้กับข้าวไทย เพราะข้าวเป็นสินค้าที่องค์ในหลวงและองค์ราชินีทรงให้ความสำคัญ และทรงย้ำเสมอว่าข้าวคือชีวิต และพื้นที่เกษตรของไทยกว่า 60% ก็คือข้าว ซึ่งแสดงว่าข้าวเป็นสินค้าสำคัญ จึงต้องมีสถาบันที่เข้ามาทำ เข้ามาพัฒนาต่อให้ข้าวเป็นซูเปอร์ฟูดส์ให้ได้” น.ส.ชุติมากล่าว
น.ส.ชุติมากล่าวว่า การวิจัยพัฒนาข้าวไปสู่การเป็นซูเปอร์ฟูสด์สามารถทำได้หลายอย่าง ทั้งการนำข้าวไปผลิตเป็นอาหารสำหรับเด็ก อาหารสำหรับคนชรา อาหารสำหรับคนวัยหนุ่มสาว อาหารลดความอ้วน ลดเบาหวาน การนำไปทำเครื่องสำอาง ทำน้ำมันจากข้าว ซึ่งดีกว่าน้ำมันมะกอก แต่การนำข้าวไปพัฒนาเป็นสินค้าเหล่านี้จะต้องมีการวิจัยและพัฒนา เพราะเป็นการลงทุนและใช้เงินสูง ซึ่งหากสถาบันทำสำเร็จออกมาแล้วก็สามารถส่งต่อไปให้ผู้ประกอบการนำไปต่อยอดผลิตเป็นสินค้าออกสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ได้
“ถ้าทำงานวิจัยออกมาได้เราจะไม่เก็บไว้บนหิ้ง แต่จะส่งต่อไปให้ผู้ประกอบการ ให้เขาเอาไปผลิตต่อ เพราะเขามีไลน์การผลิต มีไลน์การตลาดอยู่แล้ว ซึ่งหากทำในรูปแบบนี้ ซูเปอร์ฟูดส์คงเกิดขึ้นได้เร็ว และเป็นการตอบโจทย์ ทำให้ไทยพ้นกับดักการเป็นประเทศที่ผลิตสินค้าเกษตรขั้นปฐมเพียงอย่างเดียว”
นอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วยยกระดับรายได้ให้เกษตรกร เพราะในการนำข้าวมาผลิตเป็นซูเปอร์ฟูดส์ การเพาะปลูกข้าวจะต้องมีมาตรฐาน เป็นสินค้าอินทรีย์ และต้องผ่านมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) เพื่อให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพมาป้อนการผลิต ซึ่งหากเกษตรกรทำได้ตามนี้ก็จะทำให้ขายข้าวได้ในราคาที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในการจัดตั้งสถาบันคาดว่าจะก่อให้เกิดรายได้จากการนำข้าวไปผลิตเป็นสินค้าต่างๆ และมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 10,000 ล้านบาท ทำให้รัฐเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ได้ 700 ล้านบาท จากเดิมที่ไม่สามารถเก็บ VAT จากสินค้าข้าวได้ แต่หากมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นก็จะเก็บ VAT ได้มากขึ้น