“ซีอีโอ SPCG” ชูไทยผู้นำพลังงาน AEC หนุนนโยบายรัฐบาลตั้งเป้าปี 30 ใช้พลังงานหมุนเวียนกว่า 2 หมื่นเมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ 6 พันเมกะวัตต์ ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนมากกว่า 2 แสนตันต่อปี สนองนโยบายโลกลดมลพิษโลกร้อน
นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG ได้รับเกียรติจาก ธนาคารเครดิต สวิส (Credit Suisse) เข้าร่วมงาน Asian Investment Conference 2016 และร่วมเสวนาในหัวข้อ “Climate change and Asia - what investors need to know” งาน AIC by credit Suisse ที่ฮ่องกง โดย นางวันดี ได้แสดงวิสัยทัศน์ถึงประเทศไทยในฐานะเป็นผู้นำในการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ทุกประเภท โดยมีการกำหนดให้ปี 2030 มีอัตราการใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมด กว่า 20,000 เมกะวัตต์ และกำหนดให้มีการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไม่น้อยกว่า 6,000 เมกะวัตต์
นางวันดี กล่าวว่า SPCG เป็นผู้บุกเบิกการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เชิงพาณิชย์แห่งแรกในประเทศไทย และประชาคมอาเซียน ตั้งแต่ปี 2010 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ทั้งภาครัฐ และเอกชนต่างหันมาลงทุน และส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เชิงพาณิชย์ ทำให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ในภูมิภาค ซึ่ง SPCG มีการลงทุนพัฒนาโซลาร์ฟาร์มกว่า 260 เมกะวัตต์ แบ่งออกเป็น 36 โครงการ กระจายอยู่ใน 10 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยเงินลงทุนกว่า 25,000 ล้านบาท สามารถลดการปลดปล่อยคาร์บอนกว่า 210,000 ตัน CO2 ต่อปี มีการจ้างงานกว่า 20,000 แรงงานในชนบทช่วงระหว่างก่อสร้าง
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่านโยบายของรัฐบาล และการได้รับการสนับสนุนของ International Finance Corporation (IFC) ในฐานะสมาชิกของธนาคารโลก มีบทบาทที่สำคัญในการช่วยให้โครงการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกของ SPCG ประสบความสำเร็จ ด้วยการสนับสนุนด้านเงินลงทุน และเงินกู้โครงการ Clean Investment Fund (CTF) โดยการนำมาผสมผสานกับเงินกู้ของสถาบันการเงิน เพื่อช่วยลดต้นทุนทางการเงิน สามารถพัฒนาโครงการ SPCG จนประสบความสำเร็จทุกโครงการ