“โกลบอล เพาเวอร์” เดินหน้ารุกธุรกิจอนาคต (New S-Curve) ตามนโยบายบริษัทแม่ เล็งร่วมทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ในไทย รวมทั้งนำขยะมาแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า
นายสุรงค์ บูลกุล ประธานกรรมการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) เปิดเผยว่า ทางบริษัแม่ คือ ปตท.ได้มอบหมายให้ GPSC เป็นผู้ดูแลและพัฒนาในธุรกิจแบตเตอรี่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ การพัฒนาของเสียให้เป็นพลังงาน (waste to energy) โดยการนำขยะมาเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า รวมถึงการผลิตไฟฟ้าจากไบโอแก๊ส และไบโอแมส และการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มธุรกิจอนาคต (New S-Curve) ของ ปตท.ที่จะผลักดันเติบโตอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้เข้าไปถือหุ้น 17% ในบริษัท 24M Technologies,Inc.(24M) บริษัทที่ทำการวิจัยและพัฒนาแบตเตอรี่ในสหรัฐอเมริกา ขณะนี้บริษัทวิจัยดังกล่าวได้ร่วมมือกับบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นในการนำเทคโนโลยีที่มีนวัตกรรมแบบใหม่ไปทดลองใช้เป็นครั้งแรกในญี่ปุ่น หากสามารถพัฒนาสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ได้จริง ทาง GPSC จะเสนอให้มีการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ด้วยเทคโนโลยีใหม่นี้ในไทย เบื้องต้นจะเป็นการผลิตแบตเตอรี่เพื่อใช้ในระบบสะสมพลังงาน (Energy Storage) จากพลังงานแสงอาทิตย์ทำให้มีพลังงานใช้ได้ยาวนานขึ้น ก่อนที่จะพัฒนาแบตเตอรี่ไปใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) คาดว่าจะมีความชัดเจนในปี 2560
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีบริษัทชั้นนำ EV Car ทั้งในยุโรปและสหรัฐฯ ได้นำแบตเตอรี่ของ 24M มาทดลองใช้ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยังเร็วเกินไปที่จะเห็นการพัฒนาแบตเตอรี่เทคโนโลยีใหม่นี้ผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในเร็ววันนี้ แต่ในอนาคตมองเป็นโอกาสที่จะทำให้ GPSC เข้าสู่ธุรกิจนี้ เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่นี้สามารถทำให้การผลิตแบตเตอรี่เร็วขึ้นเกือบ 3 เท่า และมีต้นทุนการผลิตต่ำลงไปเกือบ 50% ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีความพร้อมค่อนข้างสูงในการผลิตแบตเตอรี่ประเภทไฮวอลุ่ม เหมาะสำหรับประเทศในแถบร้อน อีกทั้่งกลุ่ม ปตท.มีความพร้อมด้านศูนย์วิจัย บุคลากรและวัตถุดิบด้วย
นายสุรงค์กล่าวต่อไปว่า หากมีการลงทุนธุรกิจแบตเตอรี่ก็จะต้องมีความร่วมมือจากหลายฝ่าย รวมถึงกลุ่มผู้ถือหุ้นของ 24M ด้วย ซึ่งมีทั้งเคียวเซร่า กองทุนในสหรัฐฯ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ทาง 24M มีแผนจะเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 40 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งบริษัทฯ ก็จะเข้าไปเพิ่มทุนเพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นราว 17% คาดว่าจะใช้เงินเพิ่มทุนส่วนนี้ประมาณ 5 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับ New-S-curve ที่ได้รับมอบหมาย คือการพัฒนาของเสียให้เป็นพลังงาน ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการบริหารจัดการขยะครบวงจรเพื่อผลิตไฟฟ้าร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง เป็นโครงการขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 6-9 เมกะวัตต์ รวมทั้งศึกษาโครงการบริหารจัดการน้ำเพื่อรีไซเคิลน้ำเสียให้เป็นน้ำดีที่พัทยา แต่ยังคงมีประเด็นปัญหาในทางปฏิบัติอยู่