ปตท.ทบทวนโครงสร้างธุรกิจและแผนลงทุน 5 ปีใหม่เพื่อรับมือสถานการณ์ราคาน้ำมันผันผวนต่ำกว่า 30 เหรียญสหรัฐ พร้อมทำทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ที่ระดับ 20 เหรียญเป็นเวลา 2 ปีด้วย ขณะเดียวกันก็แสวงหา S Curve ใหม่ แย้มภายใต้วิกฤตย่อมมีโอกาส หลังจากอิหร่าน-โอมานเปิดช่องให้ ปตท.ร่วมลงทุน
นางศรีวรรณ เอี่ยมรุ่งโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลยุทธ์องค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.ได้ตะหนักถึงความผันผวนของราคาน้ำมันดิบที่มีมากกว่าในอดีต ล่าสุดต่ำกว่า 30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยทบทวนแผนลงทุนธุรกิจใหม่ 5 ปีที่กลุ่ม ปตท.จะใช้เงินลงทุนรวม 1.6 ล้านล้านบาท รวมถึงแผนธุรกิจใหม่บนทุกสมมติฐานที่จะเป็นไปได้เพื่อพร้อมรับทุกสถานการณ์ โดยได้ทำทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ที่ระดับราคาน้ำมันดิบ 20 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลเป็นเวลา 2 ปี ทางกลุ่ม ปตท.จะอยู่รอดได้หรือไม่ ซึ่งบริษัทฯ ได้เสนอคณะกรรมการบริษัทฯ ภายใต้สมมติฐานที่ระดับน้ำมัน 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
เนื่องจากคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในครึ่งปีหลังนี้จะขยับสูงขึ้นมาอยู่ที่ 40-50 เหรียญสหรัฐจากความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ทั้งปีราคาน้ำมันดิบจะอยู่ที่ 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
นอกจากนี้ ปตท.อยู่ระหว่างทบทวนและปรับโครงสร้างธุรกิจ (พอร์ตโฟลิโอ) ใหม่ เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป พิจารณาว่าจะมีการควบรวมหรือขายธุรกิจออกไป โดยมีการระดมสมองครั้งใหญ่ เพราะราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงจากค้นพบซัปพลายใหม่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีที่แล้ว และใช้เวลานานนับ 10 ปีกว่าที่กำลังผลิตจะสมดุลกับความต้องการใช้
แต่ภายใต้วิกฤตน้ำมัน ซึ่งภายใต้วิกฤตย่อมมีโอกาส โดยล่าสุดทางกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันเริ่มต้องการหาพันธมิตรทำธุรกิจร่วมกัน เช่น อิหร่าน และโอมาน ได้เปิดโอกาสให้ ปตท.เข้าไปทำธุรกิจด้วย โดย ปตท.มองโอกาสในการทำเทรดดิ้งที่อิหร่านที่มีคอนเดนเสท น้ำมันดิบ และแอลพีจี เพื่อป้อนในไทยหรือขายไปยังประเทศอื่น
ส่วนโอมานก็เปิดโอกาสให้ ปตท.เข้าไปลงทุนด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียมและเทรดดิ้งน้ำมันเช่นกัน
รวมทั้งแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ภายใต้เมกะเทรนด์ อาทิ สังคมสูงวัย เพื่อหา S Curve ใหม่เพื่อสร้างความเติบโตให้กลุ่ม ปตท. อาทิ มุ่งเน้นด้านนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือกระแสของโลกที่เปลี่ยนไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ทาง ปตท.ก็สนใจที่จะลงทุนด้านแบตเตอรี่เพื่อกักเก็บพลังงาน เป็นต้น ซึ่งแต่ละปี ปตท.ใช้เงินในการวิจัยและพัฒนาเฉลี่ย 3-4% ของกำไรสุทธิ หรือประมาณ 1.6 พันล้านบาท
นางศรีวรรณกล่าวว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำ รวมทั้งการบริหารกระแสเงินสดอย่างรอบคอบ มี SIM (Strategic Investment Management) เพื่อกลั่นกรองการลงทุนให้เข้มแข็งขึ้น โดยพิจารณาว่าบริษัทเก่งด้านใดก็พร้อมที่จะทุ่มสรรพกำลังไปในธุรกิจนั้นๆ ส่วนธุรกิจใดที่ไม่เชี่ยวชาญพอก็จะไม่เสียเวลา พร้อมที่จะขายออกไป เช่น ธุรกิจปลูกปาล์มที่อินโดนีเซียก็ได้มีการขายทรัพย์สินไป ล่าสุดก็เตรียมขายท่อก๊าซฯ ในอียิปต์ ส่วนธุรกิจถ่านหินก็อยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะทำต่อไปหรือไม่ และไม่มีแผนที่จะใส่เม็ดเงินลงทุนเพิ่มเติมในช่วงนี้
“ต้องเข้าใจว่าราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวลดลงในครั้งนี้ต่างจากเมื่อครั้งวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ที่ดีมานด์ความต้องการใช้น้ำมันลดลงมากจากวิกฤตเศรษฐกิจ ส่งผลต่อราคาน้ำมันปรับลดลง แต่ครั้งนี้เกิดจากกำลังการผลิตน้ำมันเกินความต้องการมาก หลังโลกมีการพบ Shale Gas/Shale Oil ในสหรัฐฯ แต่ความต้องการใช้น้ำมันไม่ลดลง
ส่งผลธุรกิจต้นน้ำ ทั้งสำรวจและผลิตปิโตรเลียมและเหมืองถ่านหินมีผลดำเนินงานไม่ดี แต่ธุรกิจกลางและปลายน้ำทั้งโรงกลั่นและปิโตรเคมีมีมาร์จิ้นดีมาก ถือว่าเป็นขาขึ้นของอุตฯ ปิโตรเคมี ดังนั้นกลุ่ม ปตท.จะแสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจนี้ในช่วงราคาน้ำมันถูก”
นางศรีวรรณกล่าวต่อไปว่า หากราคาน้ำมันดิบอยู่ระดับ 20 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลจริง สิ่งแรกที่ต้องให้ความสำคัญคือ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยหันมาใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่มีอยู่เดิมให้ได้มากที่สุด โดยจะชะลอการลงทุนโครงการใหม่ที่ไม่จำเป็นหรือยกเลิกไป