ศูนย์วิจัยพลังงานเอเชียแปซิฟิก กางผลพยากรณ์พบไทยต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นเป็น 86% ในอีก 26 ปีข้างหน้าหรือปี 2040 และจะส่งผลให้ไทยต้องนำเข้าเพิ่มขึ้นจาก 42% เป็น 78% แนะไทยต้องเร่งกระจายเชื้อเพลิงและลดการใช้พลังงานภาคขนส่ง
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยพลังงานเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Energy Research Center : APERC) ได้นำเสนอภาพอนาคตอุปสงค์และอุปทานพลังงานของเอเปกและประเทศไทย โดยเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างบุคลากรด้านนโยบายของภาครัฐ กับผู้เชี่ยวชาญจาก APERC ต่อการกำหนดสมมติฐาน และผลการพยากรณ์อุปสงค์ อุปทานพลังงาน ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อการนำมาประยุกต์ใช้ในการพยากรณ์ความต้องการพลังงานของประเทศให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ตลอดจนเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายด้านพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศและโลกต่อไป
นายอาทิตย์ ทิพย์พิชัย นักวิจัยศูนย์วิจัยพลังงานเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ได้นำข้อมูลผลจากการพยากรณ์ความต้องการใช้พลังงานของ 21 ประเทศในกลุ่มเอเปก ที่มีสมมติฐานในการพยากรณ์ความต้องการพลังงานดังกล่าว โดยใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จากธนาคารโลก (World Bank) มาใช้ใน โดยไทยอีก 26 ปีข้างหน้ายังคงมีการใช้พลังงานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 86% ในปี 2040 ขณะที่แหล่งผลิตพลังงานภายในประเทศจะมีปริมาณลดลง และจะมีการนำเข้าพลังงานเพิ่มขึ้นจาก 42% เป็น 78%
“จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตประเทศไทยยังคงต้องดำเนินมาตรการอนุรักษ์พลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการประหยัดพลังงานในภาคขนส่งเพื่อลดการใช้พลังงานให้มากขึ้น”
นอกจากนี้ผลการศึกษาพบว่าในอนาคตประเทศไทยมีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้การจัดหาพลังงานในอนาคตอาจต้องนำเข้าพลังงานในปริมาณสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่ง APERC ได้ทำการศึกษาเพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านการใช้พลังงานของไทย โดยได้จัดทำแผนทางเลือกในการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงหลัก 3 ประเภท เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน ด้วยการกระจายเชื้อเพลิง ควบคู่กับการลด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้แก่ การใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด การใช้ก๊าซธรรมชาติ และการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นการเพิ่มความหลากหลายของเชื้อเพลิง และมีความมั่นคงด้านพลังงาน หากประเทศไทย ดำเนินการตามแผนทางเลือก ตามที่ศูนย์วิจัยพลังงานเสนอ ก็จะสามารถลดการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานอีกด้วย
Dr.James Kendell รองประธานศูนย์วิจัยพลังงานเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ความต้องการใช้พลังงานในภูมิภาคเอเขียเพิ่มสูงขึ้น โดยสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นประเทศที่มีความต้องการใช้พลังงานสูงสุด รองลงมา คือ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอาเซียนเปลี่ยนจากที่เคยเป็นผู้ส่งออกพลังงาน ปัจจุบันต้องนำเข้า ทำให้นโยบายในอาเซียนหลายประเทศคล้ายและใกล้เคียงกับไทย คือเร่งรัดการประหยัดพลังงานการใช้รถยนต์ และรถสาธารณะที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น