xs
xsm
sm
md
lg

กรมการค้าภายในยันแล้งนี้ ผลผลิตหมู ไก่ ไข่ไก่ มีเพียงพอต่อการบริโภค ไม่มีขาดแคลน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กรมการค้าภายใน” ยืนยันปริมาณผลผลิตไก่-หมู-ไข่ไก่ มีเพียงพอต่อการบริโภค แม้ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นจากภัยแล้ง ทำให้ผู้เลี้ยงต้องซื้อน้ำเพิ่มขึ้น แต่ราคาถึงมือผู้บริโภคไม่เพิ่มขึ้นแน่นอน ด้านผู้เลี้ยงหมูเผยบางส่วนเลิกเลี้ยงแล้ว หวั่นแล้งทำเสียหายหนัก

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังการหารือกับผู้เลี้ยงสุกร ไก่เนื้อ และไก่ไข่ เกี่ยวกับผลกระทบจากภัยแล้ง เมื่อวันที่ 18 มี.ค.ว่า ผู้เลี้ยงไก่ และหมู ยืนยันตรงกันว่าผลผลิตในช่วงนี้เพียงพอต่อความต้องการ โดยไก่เนื้อมีผลผลิตวันละ 5 ล้านตัน และยังเหลือส่งออก ส่วนหมู ผลผลิตและการบริโภควันละ 35,000 ตัว และส่งออกปีละ 900,000 ตัว ส่วนปัญหาน้ำที่ใช้ในฟาร์ม ผู้เลี้ยงรายใหญ่ระบุว่า มีเพียงพอ แต่ต้นทุนการเลี้ยงของผู้เลี้ยงบางรายที่อยู่ไกลแหล่งน้ำ อาจเพิ่มขึ้นบ้าง จากการซื้อน้ำเฉลี่ยวันละ 2 คันรถ ราคาคันละ 1,500-2,000 บาท แต่ยืนยันว่า ราคาขายสู่ผู้บริโภคจะยังไม่เพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะราคาอาหารสัตว์ ซึ่งมีสัดส่วนถึง 50% ของต้นทุนการเลี้ยงยังไม่เพิ่มขึ้น

“ผู้เลี้ยงหมูครึ่งหนึ่งเลี้ยงในโรงระบบปิดจึงไม่ปัญหา ส่วนอีกครึ่งเลี้ยงในโรงระบบเปิดซึ่งเป็นรายเล็กและรายกลาง ประสบปัญหาต้นทุนน้ำเพิ่มขึ้น เพราะการเลี้ยงสุกรใช้น้ำปริมาณมาก ทั้งเพื่อทำความสะอาดและบริโภค โดยบางพื้นที่ เช่น ราชบุรี ชลบุรี ได้รับผลกระทบจากการลดการปล่อยน้ำจากเขื่อนแล้ว ทำให้ต้องซื้อน้ำเพิ่ม 1-2 คันรถ ผู้เลี้ยงจึงอยากให้หน่วยงานภาครัฐดูแลระบบน้ำด้วย ซึ่งกรมฯ จะประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ความรู้และทำความเข้าใจการใช้น้ำ และสุขอนามัยด้วย”

สำหรับราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มขณะนี้ กิโลกรัม (กก.) ละ 68 บาท ส่วนหมูเนื้อแดงเฉลี่ย กก.ละ 120-130 บาท และน่าจะยืนราคานี้อย่างต่อเนื่อง เพราะยังไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และต้นทุนต่างๆ ยังไม่ปรับขึ้นมาก ประกอบกับเป็นช่วงปิดเทอมที่การบริโภคไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม กรมฯ กำลังติดตามสถานการณ์พ่อแม่พันธุ์หมูอย่างใกล้ชิด เพราะผู้เลี้ยงระบุว่า แม้ปริมาณผลผลิตในเดือน มี.ค.-พ.ค.นี้ มีเพียงพอ และราคาไม่ปรับขึ้น แต่ในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. ผลผลิตอาจลดลงได้ เพราะขณะนี้พ่อแม่พันธุ์ลดลง ซึ่งกรมฯ จะร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บริหารจัดการไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลน

น.ส.วิบูลย์ลักษณ์กล่าวว่า ทางด้านสถานการณ์ไข่ไก่ กลุ่มผู้เลี้ยงไก่ไข่ระบุว่า โดยภาพรวมปริมาณไข่ไก่ในปีนี้จะอยู่ที่ 15,560 ล้านฟอง หรือวันละ 42 ล้านฟอง ถือว่าเพียงพอต่อการบริโภค และไม่ขาดแคลน แต่ยอมรับว่า ในช่วงอากาศร้อนอาจทำให้ไข่ไก่เล็กกว่าปกติ แต่สิ่งที่ผู้เลี้ยงไก่ไข่ได้รับผลกระทบยังคงเหมือนเช่นทุกปี คือ ต้นทุนที่เป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากในช่วงหน้าร้อน และการหาแหล่งน้ำเพิ่ม ทำให้ราคาไข่ไก่คละขณะนี้ปรับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่เฉลี่ยฟองละ 2.90 บาท โดยมีต้นทุนเฉลี่ยฟองละ 2.79-2.80 บาท ส่งผลให้ราคาไข่ไก่เบอร์ 3 ฟองละ 3.35 บาท ซึ่งไม่สูงเกินไป โดยผู้เลี้ยงไก่ไข่ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐช่วยเหลือลดต้นทุนในด้านต่างๆ ให้เพื่อให้ราคาไข่ไก่ไม่เพิ่มขึ้นในช่วงภัยแล้ง และช่วงเปิดเทอมหน้า

นายเสน่ห์ นัยเนตร ประธานสหกรณ์ปศุสัตว์และสัตว์น้ำฉะเชิงเทรา จำกัด กล่าวว่า ผู้เลี้ยงสุกรเห็นว่าปีนี้น่าจะเกิดวิกฤตกับผู้เลี้ยง เพราะผลจากภัยแล้ง ทำให้บางฟาร์มชะลอการเลี้ยงและขายลูกพันธุ์แล้ว เนื่องจากวิตกเรื่องน้ำแล้งและแบกรับต้นทุนไม่ไหว ซึ่งต้นทุนน้ำ คิดเป็นสัดส่วน 30% ของต้นทุนการเลี้ยง หรือหมู 1 ตัวมีค่าใช้จ่ายน้ำเพิ่มวันละ 30 บาท และส่วนใหญ่ผู้เลี้ยงสุกรจะเป็นรายย่อย 70% ซึ่งพื้นที่เลี้ยงสุกรหลักของประเทศ คือ ราชบุรี นครปฐม ชลบุรี และฉะเชิงเทรา มีต้นทุนการเลี้ยงอยู่ที่ กก.ละ 62-64 บาท แต่ต้องขาย กก.ละ 67-69 บาท หากต้องซื้อน้ำและอาหารสัตว์แพงขึ้นอีกอาจประสบปัญหาได้

“ผู้เลี้ยงหมูห่วงมากว่าถ้าแล้งนาน น้ำไม่พออีก 2 เดือน จะกระทบผลผลิตที่จะออกตลาดในเดือน ต.ค. เพราะระยะเวลาเลี้ยง 4-6 เดือน ตอนนี้หมูพันธุ์ลด เราเสนอให้ทางการช่วยเหลือจัดสรรน้ำ คุมอาหารสัตว์ และช่วยเพิ่มมูลค่าหมูที่เลี้ยง และยังได้เตรียมทำหนังสือให้รัฐบาลประชุมคณะกรรมการสุกรแห่งชาติ (พิกบอร์ด) เพื่อพิจารณาช่วยเหลือเกษตรกร ผมว่าราคาสุกรจะสูงขึ้น แต่คงไม่เกินกก.ละ 70-71 บาท จากวันนี้ 67-68 บาท” นายเสน่ห์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น