“พาณิชย์” ขอความร่วมมือผู้ผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดเพิ่มสต๊อกช่วงหน้าแล้งจาก 5-7 วัน เป็น 10 วัน สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคว่าจะไม่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่ม ด้านผู้ประกอบการยันเพิ่มกำลังการผลิตรองรับความต้องการจากปกติแล้ว 20-30%
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังการหารือกับผู้ผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด และสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย วันที่ 9 มี.ค. ว่า กรมฯ ได้ขอความร่วมมือผู้ผลิตน้ำดื่มให้เพิ่มปริมาณสต๊อกเก็บน้ำดื่มบรรจุขวดจากเดิม 5-7 วัน เป็น 10 วัน เริ่มตั้งแต่เดือน มี.ค.จนสิ้นสุดภัยแล้ง เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคว่าน้ำดื่มจะไม่ขาดแคลนในช่วงหน้าร้อนหรือช่วงภัยแล้งปีนี้อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ทางกลุ่มผู้ผลิตน้ำดื่มได้ยืนยันว่าได้เพิ่มกำลังการผลิตน้ำจากช่วงปกติแล้ว 20-30% เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคทั่วประเทศ และขอให้ทุกฝ่ายสบายใจได้ว่าน้ำดื่มในประเทศไทยจะไม่ขาดแคลน และไม่อยากให้ร้านค้าหรือผู้บริโภคเกิดการกักตุนเพราะจะไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้กักตุน
“ทุกวันนี้เจ้าหน้าที่ของกรมฯ และผู้ประกอบการได้ร่วมกันออกตรวจสอบปริมาณน้ำดื่มตามร้านและห้างต่างๆ ว่าปริมาณมีเพียงพอหรือไม่ เบื้องต้นพบว่าทุกแห่งมีปริมาณน้ำเป็นจำนวนมาก และที่สำคัญผู้ผลิตน้ำดื่มมีรถขนส่งรวมกันทั่วประเทศ 2,000-3,000 คันหากจังหวัดใดมีปัญหา โดยเฉพาะจังหวัดที่ได้ถูกประกาศเป็นเขตภัยแล้ง ถ้าขาดแคลนน้ำดื่ม ผู้ประกอบการก็สามารถกระจายสินค้าได้ทันที” น.ส.วิบูลย์ลักษณ์กล่าว
นอกจากนี้ เพื่อให้มีการติดตามสถานการณ์น้ำดื่มได้อย่างใกล้ชิด กรมฯ ได้ขยับสินค้าน้ำดื่มบรรจุภาชนะผนึกเข้าไปอยู่ในรายการสินค้าจับตาเป็นพิเศษ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2559 ซึ่งเจ้าหน้าที่จะติดตามการเคลื่อนไหวของราคาและปริมาณทุกวัน เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันหากพบเหตุผิดปกติ
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์กล่าวว่า เร็วๆ นี้กรมฯ ได้เตรียมที่จะเชิญผู้บริหารจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) มาหารือเกี่ยวกับกรณีที่มีประชาชนจำนวนมากได้ร้องเรียนว่าราคาสินค้า เช่น น้ำดื่มและอาหารกล่องในสนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินดอนเมือง และสนามบินอื่นๆ มีราคาแพงมาก เช่น น้ำดื่ม บางร้านราคา 15-20 บาท/ขวด ต่างจากร้านทั่วประเทศที่ราคา 7 บาท/ขวด ว่าจะสามารถที่จะลดราคาให้ลงอีกได้หรือไม่ โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ร้านค้าในสนามบินที่ปรับขึ้นราคาสินค้าแพงกว่าร้านทั่วไปมาก ส่วนหนึ่งมาจากค่าเช่าที่
นายวิชัย กัลยาณเมธี กรรมการบริหารสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย กล่าวว่า สมาชิกสมาคมฯ ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำดื่มรายใหญ่ 7 ราย และเมื่อรวมกับบริษัทบุญรอด ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกรวมเป็น 8 ราย ได้หารือร่วมกันแล้วว่าในช่วงหน้าร้อนปีนี้แต่ละบริษัทจะมีการผลิตน้ำดื่มขึ้นมาสต๊อกไว้ 20-30% เพิ่มขึ้นจากช่วงปีที่ผ่านมาที่มีการสต๊อกประมาณ 10-20% เพราะมีการประเมินแล้วว่าความต้องการบริโภคน้ำดื่มในปีนี้อาจสูงกว่าทุกปี
“ผู้ผลิตน้ำดื่มยืนยันว่าปีนี้การผลิตน้ำจะเพียงพอต่อการบริโภค ไม่ขาดแคลน เพราะมีแหล่งผลิตจากน้ำบาดาลเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการผลิตน้ำจะมาจาก 3 แหล่ง คือ น้ำบาดาล น้ำประปา น้ำจากแม่น้ำ ซึ่งน้ำประปาและน้ำจากแม่น้ำลดลง แต่น้ำบาดาลยังมีการผลิตปกติและสามารถรองรับกำลังการผลิตได้อีกเป็น 10 ปี” นายวิชัยกล่าว
นายประภาส อดิสยเทพกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดาราเหนือ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตน้ำดื่มโพลาริส กล่าวว่า ปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงขึ้นไม่กระทบต่อปริมาณการผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด เนื่องจากใช้น้ำบาดาล ซึ่งกำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 3 ล้านแพกต่อเดือน และจะเพิ่มกำลังการผลิตเพิ่มเติมในช่วงสภาพอากาศร้อนจัด เนื่องจากในช่วงหน้าแล้งทุกปีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น และขอให้มั่นใจว่าน้ำดื่มบรรจุขวดไม่ขาดแคลนอย่างแน่นอน