“พาณิชย์” ประสานงาน อย.-สคบ.ตรวดน้ำดื่มบรรจุขวด หลังพบไม่มีคุณภาพวางขายเกลื่อนในตลาด แหล่งท่องเที่ยว หลายแบรนด์ไม่มี อย. หวั่นผู้บริโภคได้รับอันตราย พร้อมเชิญผู้ผลิตน้ำ 11 ยี่ห้อและสมาคมที่เกี่ยวเนื่องมาหารือเพื่อสร้างความมั่นใจประชาชน สินค้ามีเพียงพอ ไม่ขาดแคลนแม้เกิดภัยแล้ง
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมฯ เตรียมประสานกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร่วมกันลงพื้นที่ไปตรวจสอบคุณภาพน้ำดื่มบรรจุขวดตามตลาดต่างๆ หลังจากได้รับการร้องเรียนว่าในหลายๆ จังหวัดมีผู้ประกอบการได้นำน้ำดื่มที่ยังไม่ได้รับเครื่องหมาย อย. รวมถึงขวดพลาสติกบางยี่ห้อไม่มีคุณภาพนำมาจำหน่ายแก่ประชาชนในราคาไม่แพง เพราะเป็นสินค้าขายดีในช่วงฤดูแล้งและอากาศร้อน ซึ่งพบมากตามตลาดและสถานที่ท่องเที่ยว
“มีความเป็นห่วงสุขภาพของผู้บริโภค จึงต้องประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เข้าไปแก้ไขปัญหา โดย สคบ.จะเข้าไปดูว่ามีการโฆษณาเกินจริงหรือไม่ ส่วน อย.จะดูคุณภาพของน้ำ และไปดูบริษัทผลิตน้ำว่าสะอาด ถูกสุขอนามัยหรือไม่ เพราะน้ำดื่มบรรจุขวดบางยี่ห้อไม่มี อย. โดยเฉพาะขวดขุ่นที่ไม่สามารถมองเห็นว่ามีตะกอนเล็กๆ หรือไม่” น.ส.วิบูลย์ลักษณ์กล่าว
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์กล่าวว่า ในวันที่ 9 มี.ค.นี้กรมฯ ได้เชิญผู้ผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด 11 ยี่ห้อ สมาคมผู้ผลิตน้ำดื่ม และชมรมผู้ผลิตน้ำดื่ม มาหารือร่วมกัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนว่าจะไม่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่มบรรจุขวด โดยต้องให้ผู้ผลิตออกมายืนยันกับผู้บริโภคเองว่ามีกำลังการผลิตที่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค รวมถึงจะขอความร่วมมือวางแผนการผลิต ปริมาณสต๊อก เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคว่าจะไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนแน่นอน
“จากการติดตามสถานการณ์น้ำดื่มบรรจุขวดยังไม่พบการขาดแคลน ไม่พบสิ่งผิดปกติ จะมีแต่ก็ทางห้างสรรพสินค้าที่ทำโปรโมชันน้ำดื่มในช่วงนี้ ทำให้ยอดขายน้ำดื่มสูงขึ้น แต่ไม่ได้สูงมากจนน่าตกใจ หรือยังไม่ถึงขั้นการกักตุนสินค้า”
อย่างไรก็ตาม ในเดือน มี.ค. 2559 กรมฯ ได้ดึงน้ำดื่มให้อยู่ในกลุ่มสินค้าที่จะต้องติดตามราคาทุกวัน และต้องรายงานมาให้รับทราบทั้งสถานการณ์ราคาและปริมาณ
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์กล่าวว่า กรมฯ ยังได้ติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งพบว่าปีนี้ภัยแล้งมาเร็วกว่าปีก่อน จึงได้สั่งให้ติดตามสถานการณ์สินค้า โดยเฉพาะราคามะนาวที่จะปรับขึ้นจากผลผลิตที่ลดลง รวมถึงเนื้อสัตว์ เนื้อสุกร และผลไม้ แต่ยังไม่พบปัญหาการขาดแคลน แต่หากพบว่ารายการใดมีปัญหาก็จะเข้าไปแทรกแซงตลาดทันที ทั้งการนำผลผลิตจากที่อื่นเข้าไปทดแทน หรือการผลักดันให้บริโภคสินค้าทดแทนอื่นๆ เช่น หากเนื้อหมูขาดแคลน ก็ให้บริโภคเนื้อไก่ เนื้อปลาแทน