“พาณิชย์” ตรวจตลาดตรุษจีน เผยการใช้จ่ายเริ่มคึกคัก สินค้าเซ่นไหว้ส่วนใหญ่ราคาทรงตัวใกล้เคียงปีก่อน เผยกลุ่มเนื้อสัตว์ราคาทรงตัว ผักเริ่มลดลง มีเพียงผลไม้ ส้ม ส้มโอ กล้วยหอมทอง และชมพู่ ที่ราคาขยับขึ้น “วิบูลย์ลักษณ์” สั่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจตลาดทั่วประเทศ ป้องกันผู้บริโภคโดนเอาเปรียบ
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์ ร่วมรักษ์ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ตรวจสอบสถานการณ์ราคาสินค้าในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ตลาดเยาวราชว่า จากการตรวจสอบการจับจ่ายใช้สอยพบว่ามีความคึกคักเพิ่มมากขึ้น โดยมีประชาชนเริ่มเดินทางมาซื้อสินค้าของเซ่นไหว้ ก่อนที่จะมีการจ่ายจริงในวันที่ 6 ก.พ. 2559 โดยราคาสินค้าส่วนใหญ่ทรงตัว ไม่แตกต่างจากปีก่อน และปริมาณสินค้ามีเพียงพอต่อความต้องการ
ทั้งนี้ สินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ เช่น ไก่ทั้งตัว เฉลี่ย 65-80 บาท เนื้อหมู เฉลี่ย 130-145 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ของแห้ง เช่น เห็ดหอม และเส้นหมี่ ราคาทรงตัว ส่วนผักสด เริ่มปรับลดลงเล็กน้อยจากสภาพอากาศที่เย็นลง ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น มีเพียงผลไม้ไทย เช่น ส้ม ส้มโอ กล้วยหอมทอง และชมพู ที่ราคาขยับขึ้นมาประมาณ 5-10 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนผลไม้ต่างประเทศ เช่น แอปเปิ้ล และสาลี่ ราคาทรงตัวที่ 4 ผล 100 บาท
“ในช่วงนี้ กรมฯ ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบสถานการณ์ราคาจำหน่ายสินค้าทั่วประเทศแบบรายวัน เพื่อดูแลและสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภค โดยในส่วนร้านค้าจะกำชับให้มีการปิดป้ายแสดงราคา และห้ามค้ากำไรเกินควร ซึ่งหากผู้บริโภคเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ให้ร้องเรียนได้ที่สายด่วน 1569 และคาดว่า หลังจากผ่านเทศกาลตรุษจีนไปแล้ว ราคาสินค้าโดยรวมจะอ่อนตัวลงตามกลไกตลาด” น.ส.วิบูลย์ลักษณ์กล่าว
น.ส.วิบูลย์ลักษณ์กล่าวว่า สำหรับการปรับราคาก๊าซหุงต้มลงมา 0.5-2 บาทต่อ กก. จากการวิเคราะห์ของกรมฯ พบว่าจะทำให้ต้นทุนของอาหารสำเร็จรูปลดลง 10-14 สตางค์ต่อจาน ซึ่งถือว่าไม่มาก แต่ก็เป็นผลดีต่อผู้ประกอบการที่ต้นทุนลดลง และไม่มีแรงกดดันต่อราคาอาหารปรุงสำเร็จ โดยเชื่อว่าราคาอาหารที่ 30-35 บาทจะยังคงมีจำหน่ายอยู่ในทุกพื้นที่ หลังจากที่กรมฯ ได้เดินหน้าเพิ่มจำนวนร้านหนูณิชย์พาชิมให้เพิ่มขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด
“ขณะนี้มีร้านอาหารปรุงสำเร็จที่เข้าร่วมโครงการร้านหนูณิชย์พาชิมแล้ว 4,600 ร้าน จากเป้าหมาย 10,000 ร้าน โดยคาดว่าภายในเดือน พ.ค.นี้ จะทำได้ครบ แบ่งเป็นกรุงเทพฯ 1,600 ร้าน ส่วนที่เหลือเป็นต่างจังหวัด และตั้งเป้าที่จะขยายในพื้นที่ 50 เขตของกรุงเทพฯ ให้ได้มากขึ้น ขั้นต่ำต้องได้ 10 ร้านต่อ 1 เขต เพื่อกระจายการดูแลผู้บริโภคให้ทั่วถึง”
ส่วนสถานการณ์ราคาสินค้าทั่วไป ปัจจุบันมีราคาทรงตัวและปรับลดลง โดยเฉพาะการปรับลดลงจากต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ล่าสุดได้ปรับลดราคาลงมาแล้ว 13 กลุ่มสินค้า จำนวนกว่า 120 รายการ