xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ทบทวนสัญญาซื้อ LNG จากเชลล์-บีพี ใหม่ คาดเซ็นได้ปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายปิติพันธ์ เทพปฏิมากรณ์
ปตท. เจรจาทบทวนโครงสร้างสัญญาซื้อขาย LNG กับ เชลล์ และ บีพี ใหม่ โดยอิงสัดส่วนตลาดจรมากขึ้นเป็น 50% จากเดิม 30% เป็นเวลา 3 - 5 ปี คาดเซ็นสัญญาได้ในปีนี้ พร้อมเร่งรัฐเดินหน้าสร้างคลัง LNG แห่งใหม่ ฉวยจังหวะค่าก่อสร้างถูก รวมทั้งจีบ กฟผ. เข้ามาร่วมทุนในโครงการทำคลัง LNG แห่งใหม่ 7.5 ล้านตัน

นายปิติพันธ์ เทพปฏิมากรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท. อยู่ระหว่างการเจรจารายละเอียดสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ใหม่ กับ เชลล์ และ บีพี เพื่อสะท้อนราคาตลาดมากขึ้น เนื่องจากเห็นว่า ราคา LNG ตลาดจร (Spot Market) ค่อนข้างต่ำอยู่ที่ 4.6 เหรียญสหรัฐฯ/ล้านบีทียู ดังนั้น กระทรวงพลังงานเห็นว่าขณะนี้ตลาด LNG เป็นตลาดของผู้ซื้อ ดังนั้น ปตท. ควรทบทวนรายละเอียดก่อนลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซ LNG ระยะยาวรายละ 1 ล้านตัน/ปี จากโครงสร้างราคาแบบผสม (ไฮบริด) ที่อิงราคาน้ำมันและก๊าซสัดส่วน 70% เป็นราคาตามสัญญาและอีก 30% เป็นราคา Spot จะเปลี่ยนเป็นสัดส่วน 50 : 50 แทนเป็นเวลา 3 - 5 ปี จากนั้นจะพิจารณาใหม่ คาดว่าจะลงนามสัญญาซื้อขาย LNG ได้ภายในปีนี้

อย่างไรก็ตาม ในอนาคต การซื้อขาย LNG ก็คงต้องทำเป็นสัญญาระยะยาวเพิ่มมากขึ้น เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน จากปัจจุบันมีสัญญาซื้อ LNG ระยะยาว 2 ล้านตัน/ปี จากกาตาร์ ซึ่งสถานีรับ - จ่ายก๊าซแอลเอ็นจีจีระยะที่ 2 จะแล้วเสร็จทำให้สามารถรองรับ LNG ได้ถึง 10 ล้านตัน เพียงแต่ระยะสั้นนี้ ราคาตลาดจรค่อนข้างต่ำมาก จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการจัดหาก๊าซจากตลาดจรมากขึ้น เพื่อมาทดแทนการใช้ก๊าซส่วนเกินสัญญาจากอ่าวไทย เพื่อสำรองไว้ใช้ให้นานขึ้น

ส่วนกรณีที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สนใจที่นำเข้า LNG เพื่อป้อนให้กับโรงไฟฟ้าพระนครใต้นั้น นายปิติพันธ์ กล่าวว่า ปตท. ต้องการให้รัฐฉวยจังหวะราคาเหล็ก และท่อ ต่ำ เร่งโครงการสร้างคลัง LNG แห่งใหม่ โดยจะให้ ปตท. หรือเอกชนรายใดก็ได้เป็นผู้ลงทุนก็ได้ เนื่องจากขณะนี้ต้นทุนค่าก่อสร้างจะลดลงมาก เพราะโครงการวางท่อก๊าซเส้น 5 พบว่า ค่าก่อสร้างลดลง 30% จากเดิม 1 แสนล้านบาทเหลือเพียง 7 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ คลัง LNG แห่งใหม่ควรอยู่ที่หัวทาง คือ จังหวัดระยอง เพราะโครงข่ายเดิมอยู่แล้ว ทั้งโรงแยกก๊าซ คลัง LNG 10 ล้านตัน ทำให้สามารถบริหารคุณภาพก๊าซ LNG นำเข้าทั้งหมดได้ดีที่สุด และส่งป้อนให้กับโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ได้ดีกว่า การสร้างคลังในจังหวัดอื่น ซึ่งมองว่า กฟผ. มีแผนลงทุนสร้างคลังเรือ LNG ลอยน้ำ (FSRU) เพื่อจะนำเข้า LNG ป้อนโรงไฟฟ้าพระนครใต้เพียงแห่งเดียว ไม่คุ้มและเป็นการลงทุนที่ซ้ำซ้อน

ด้าน นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มผลประกอบการไตรมาส 1/2559 จะใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) 1 จะยังคงได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่อยู่ระดับต่ำต่อเนื่อง แต่ธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลายทั้งโรงกลั่นและปิโตรเคมีถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยเฉพาะธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากต้นทุนก๊าซได้เริ่มปรับลดลงสะท้อนราคาน้ำมันในช่วง 6 - 12 เดือนก่อนหน้านี้ ขณะที่ราคาขายผลิตภัณฑ์ก๊าซจะอิงกับราคาน้ำมันเตาที่ปัจจุบันได้ชะลอการปรับลดราคาลงแล้ว รวมถึงการขายผลิตภัณฑ์จากโรงแยกก๊าซฯซึ่งขึ้นอยู่กับราคาปิโตรเคมีที่ในปีนี้ก็ชะลอการลดลงเช่นกัน

ส่วนกรณีที่ บ.มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ ได้ทบทวนเครดิตบริษัทน้ำมันทั่วโลก หลังราคาน้ำมันปรับลดลงมามาก ซึ่งรวมถึง ปตท. ด้วยนั้น โดยส่วนตัวไม่กังวลมากนัก แม้ว่าที่ผ่านมา มูดี้ส์ จะปรับลดเครดิตของบริษัทน้ำมันเป็นส่วนใหญ่ก็ตาม เพราะ ปตท. ใช้เงินกู้ค่อนข้างน้อย มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) เพียง 0.3 เท่า ถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับความสามารถก่อหนี้ที่ยังทำได้ถึงระดับ 1 : 1 เท่า บ่งชี้ฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง แม้ว่ากำไรสุทธิในปี 2558 ปรับลดลง 66% แต่มีสาเหตุมาจากการบันทึกด้อยค่าสินทรัพย์ แต่มี EBITDA โต 3% และมีเงินสดในมือมาถึง 3.28 แสนล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น