“ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ” ทุ่มกว่าพันล้านเพิ่มทุนในบริษัทย่อยจ่ายคืนหนี้และเงินทุนในส่วนโรงไฟฟ้าหงสา ยันหารือร่วมกับ กฟผ.-เอ็กโก กรุ๊ป หวังนำเข้า LNG หากมีความชัดเจนในกฎระเบียบต่างๆ ส่วนคลัง LNG ในพม่าก็ยังหารือร่วมกับ ปตท.ในฐานะพันธมิตรอยู่
นายรัมย์ เหราบัตย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯจะใส่เงินเพิ่มทุนในบริษัทย่อย คือ อาร์เอช อินเตอร์เนชั่นแนล คอร์ปอเรชั่น (RHIC) ที่ราชบุรีฯถือหุ้นอยู่ 99.99% เป็นเงิน 10,650 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนในRHIC โดยได้ชำระเงินไปแล้ว 5,325 ล้านบาท เพื่อนำไปชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยเงินกู้ Inter-Company Loan ของบริษัทย่อย RHIC ที่เข้าไปลงทุนในโรงไฟฟ้าหงสาที่ สปป.ลาว และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จีน และอีก 5,325 ล้านบาทจะชำระในสัปดาห์หน้าเพื่อใช้ในส่วนทุนของบริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด โดยราชบุรีฯ มีกระแสเงินสดเพียงพออยู่แล้ว
ปัจจุบันโรงไฟฟ้าหงสาที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ได้เดินเครื่องเชิงพาณิชย์หน่วยที่ 3 แล้วเมื่อต้น มี.ค.ที่ผ่านมาครบทั้ง 3 หน่วย คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทฯ ในโรงไฟฟ้าหงสา 40% รวม 751.20 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตทั้งหมด 1,878 เมกะวัตต์
แหล่งข่าวจากบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความคืบหน้าการรุกธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ว่า บริษัทฯ ได้มีการหารือร่วมกับ ปตท.ในฐานะพันธมิตรร่วมทุนในโครงการทำคลัง LNG ในประเทศพม่าเพื่อสร้างความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงให้แก่โรงไฟฟ้าในแถบภาคตะวันตกของประเทศไทย หลังสัญญาซื้อขายก๊าซฯจากแหล่งยาดานา และแหล่งเยตากุนสิ้นสุดลง ขณะนี้ยังไม่ความคืบหน้าเพราะต้องรอการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของพม่าก่อน
เช่นเดียวกับแผนการลงทุนโรงไฟฟ้าในพม่าทั้งโรงไฟฟ้ามะริดขนาด 2.6 พันเมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าเชียงตุงขนาด 600 เมกะวัตต์ ขณะนี้ยังต้องรอรัฐบาลใหม่ของเมียนมาก่อน แต่จากการหารือกับหน่วยงานรัฐทำให้มั่นใจว่ารัฐบาลใหม่พม่ายังให้ความสำคัญการลงทุนด้านพลังงานไฟฟ้า เนื่องจากพม่ายังความต้องการใช้ไฟอีกมาก ซึ่งบริษัทมีความพร้อมที่จะเข้าไปลงทุนทันทีหากรัฐบาลพม่าอนุมัติ
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้หารือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป ในความร่วมมือการนำเข้า LNG มาไทยเพื่อป้อนให้แก่โรงไฟฟ้าต่างๆ ด้วย หลังรัฐมีนโยบายเปิดกว้างให้บุคคลที่สามารถใช้บริการขนส่งก๊าซฯ ทางท่อของ ปตท.ได้ แต่ทั้งนี้คงต้องรอความชัดเจนเกี่ยวกับกฎระเบียบ TPA (Third Party Access)