xs
xsm
sm
md
lg

“แปซิฟิค ห้องเย็น” เจ้าตลาดห้องเย็น ผู้นำนวัตกรรมสู่ธุรกิจที่เติบโต-ยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ย้อนหลังไปเมื่อ 60 ปีก่อนประเทศไทยเริ่มมีการส่งออกอาหารแปรรูปในปี พ.ศ. 2510 จากการที่รัฐบาลใช้นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อการส่งออก โดยผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมในช่วงเวลาดังกล่าวมีการปรับปรุงเทคโนโลยีเพื่อให้สินค้ามีคุณภาพได้มาตรฐานและสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในตลาดต่างประเทศได้ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2520 เป็นต้นมาภาคอุตสาหกรรมจึงมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความได้เปรียบในเรื่องแรงงาน และความรู้ความชำนาญในการผลิตที่เพิ่มมากขึ้น

ในขณะเดียวกัน สินค้าอุตสาหกรรมอาหารของไทยก็ประสบความสำเร็จในการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ อุตสาหกรรมอาหารจึงเติบโตไปพร้อมกับอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างรวดเร็วโดยการนำเทคโนโลยีจากยุโรปและอเมริกาเข้ามาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และเมื่อเริ่มเปิดเสรีทางการค้าในปี พ.ศ. 2530 การแข่งขันของอุตสาหกรรมในตลาดโลกสูงขึ้น เนื่องจากมีประเทศผู้ผลิตรายใหม่เข้าสู่ตลาดโลกมากขึ้น ประกอบกับกฎเกณฑ์การค้าโลกมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และในช่วงนี้เองที่ธุรกิจห้องเย็นในประเทศไทยเริ่มต้นขึ้น

โดยยุคเริ่มต้นห้องเย็นจะอยู่ภายในโรงงานอุตสาหกรรมของผู้ผลิตสินค้า และธุรกิจที่ให้บริการห้องเย็นภายนอกจะเป็นเฉพาะห้องจัดเก็บที่ไม่ใหญ่มากนัก โดยกั้นฉนวนความร้อนแบบง่ายๆ หรือใช้ตู้คอนเทนเนอร์มาดัดแปลง ใช้เพื่อจัดเก็บวัตถุดิบในระยะเวลาสั้นๆ ส่งผลให้คุณภาพของวัตถุดิบที่จัดเก็บมีความแปรปรวนขึ้นกับอุณหภูมิความร้อนภายนอกจากเวลาการเปิด-ปิดประตู หรือการลำเลียงสินค้าเข้าห้องจัดเก็บ จนกระทั่งกระบวนการลอจิสติกส์ในประเทศไทยเริ่มมีบทบาทมากขึ้น

โดยโรงงานผู้ผลิตสินค้าเริ่มเน้นความสามารถ และการพัฒนาในการผลิตมากกว่าการจัดเก็บ และสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้ธุรกิจการให้บริการห้องเย็นรับฝากเริ่มมีการปรับปรุงและพัฒนาเรื่อยมาตลอดเวลา 30 ปีที่ผ่านมา

ปัจจุบันภาพรวมธุรกิจห้องเย็นของไทย และตลาดโลกมีความเปลี่ยนแปลง และการเติบโตเพิ่มมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิต รูปแบบอาหารในสังคมปรับเปลี่ยนเป็นสินค้าพร้อมรับประทาน (RTE&RTD : Ready to eat และ Ready to drink) ซึ่งตลอดกระบวนการต้องอาศัยความเย็นทั้งในการจัดเก็บ การผลิต และการจัดส่ง ทำให้มีการขยายตัวของธุรกิจห้องเย็นรับฝากอย่างต่อเนื่อง

ส่งผลให้มีผู้ประกอบการรายใหม่ๆ เข้ามาในธุรกิจมากขึ้น ตามข้อมูลสถิติของกระทรวงพาณิชย์ ปริมาณคลังสินค้าเย็นในประเทศไทยมีผู้ประกอบการมากกว่า 100 บริษัท และมีความสามารถในการจัดเก็บมากกว่า 6 แสนตันทั่วประเทศ

หากมาตรฐานคำว่า “เจ้าตลาดห้องเย็น” วัดที่ปริมาณพื้นที่การจัดเก็บ บริษัท แปซิฟิค ห้องเย็น จำกัด ในกลุ่มบริษัทเจดับเบิ้ลยูดี (JWD Group) ก็สามารถเรียกได้ว่าเป็นเจ้าตลาดห้องเย็นในปัจจุบัน จากปริมาณพื้นที่การจัดเก็บกว่า 5 หมื่นตัน และหากรวมทุกทำเลที่ตั้งปริมาณพื้นที่การจัดเก็บมากกว่า 9 หมื่นตันทั่วประเทศ

บริษัท แปซิฟิค ห้องเย็น จำกัด เริ่มก่อตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2539 จังหวัดสมุทรสาคร บนพื้นที่มากกว่า 60 ไร่ ปัจจุบันประสบการณ์กว่า 20 ปี โดยมีผู้บริหารที่คร่ำหวอดอย่าง อัจฉรา นิมิตรปัญญา กรรมการผู้จัดการ บจ.แปซิฟิค ห้องเย็น และ จิตชัย นิมิตปัญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บจ.แปซิฟิค ห้องเย็น

นับว่าเป็นหัวหอกสำคัญในการประกอบธุรกิจบริหารจัดการคลังสินค้าแช่แข็งสาธารณะ (Cold Public Warehouse) เป็นผู้ให้บริการหลักในการรับฝากสินค้าแช่เย็น และบริการแช่แข็งสินค้าทุกประเภททั้งประเภทวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูป เช่น อาหารทะเล ปลาทูน่า ชิ้นส่วนไก่แช่แข็ง น้ำผลไม้เข้มข้น หมู เนื้อ สินค้าแช่แข็งสำเร็จรูป และอื่นๆ ปัจจุบันบริษัทฯ มีอาคารจัดเก็บทั้งสิ้น 7 อาคาร มีความสามารถในการจัดเก็บสูงสุดกว่า 50,000 ตัน ปริมาณเข้า-ออกต่อวันมากกว่า 300 ตัน เปิดให้บริการลูกค้าทุกวัน โดยมีพื้นที่สำหรับให้บริการ ดังนี้

พื้นที่รับฝากและจัดเก็บสินค้า อุณหภูมิ -18 ถึง -25 องศาเซลเซียส (Frozen Storage) จำนวน 34 ห้อง แบ่งออกเป็น ห้อง Mobile Pallet จำนวน 5 ห้อง และห้อง Racking จำนวน 29 ห้อง

พื้นที่รับฝากและจัดเก็บสินค้า อุณหภูมิ 0 ถึง 5 องศาเซลเซียส (Chill Storage)

พื้นที่รับฝากและจัดเก็บสินค้า อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส (Ambient Storage)

พื้นที่แช่แข็งสินค้า (Freezing room) อุณหภูมิต่ำกว่า -35 องศาเซลเซียส จำนวน 8 ห้อง

กว่า 20 ปีที่บริษัท แปซิฟิค ห้องเย็น จำกัด ก่อตั้งมา บริษัทได้ปรับปรุง และพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องของการนำระบบ Mobile Pallet มาใช้ในธุรกิจการให้บริการห้องเย็นรับฝากเป็นแห่งแรกของประเทศไทย และให้บริการหลากหลายรูปแบบ ทั้งห้องเย็น (Cold Public Storage) และการขนส่งด้วยระบบความเย็น (Cold Transportation), การคัดแยก (Sorting), การจัดกลุ่ม และการจัดเรียงตามความต้องการของลูกค้า (Packing & Picking)

โดยมุ่งเน้นการจัดการระบบโดยรวมภายใต้คำว่า Cold Chain Management ซึ่งมากกว่าคำว่า “ห้องเย็นรับฝาก” แบบในอดีต การพัฒนาอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวความคิด “Cold Chain Management” ของบริษัท แปซิฟิค ห้องเย็น จำกัด มุ่งเน้นในด้านนวัตกรรม ด้านคุณภาพ และด้านธรรมาภิบาลของบริษัท

สำหรับนวัตกรรมของบริษัท นอกจากระบบการจัดเก็บด้วยพัลเลตเคลื่อนที่ (Mobile Pallet) แห่งแรกในประเทศไทยแล้ว ยังใช้ความคิดริเริ่ม การปฏิบัติสิ่งใหม่อยู่อย่างสม่ำเสมอ เช่น การก่อสร้างอาคารจัดเก็บสินค้าสมัยใหม่โดยใช้ฉนวนที่มีความหนาเป็นพิเศษ และจัดสรรพื้นที่การรับและจ่ายสินค้าการลำเลียงเข้าห้องจัดเก็บ ที่แบ่งแยกอุณหภูมิให้เกิดกระบวนการสูญเสียอุณหภูมิของสินค้าน้อยที่สุด ซึ่งลดการใช้พลังงานลงได้มากกว่า 30% การใช้หลอดไฟแบบไดโอดเปล่งแสง (LED ; Light-Emitting-Diode) จำนวนมากกว่า 5,000 หลอดทั้งบริษัทเพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้า การใช้รถโฟล์คลิฟต์แบบไฟฟ้าเพื่อไม่ก่อให้เกิดมลภาวะในอากาศ และการนำน้ำจากระบบบำบัดมาใช้ในพื้นที่ส่วนกลาง หรือการรดน้ำต้นไม้

ตลอดจนการใช้การบันทึกการจัดเก็บสินค้าด้วยระบบคลื่นวิทยุ (RFID ; Radio Frequency Identification) ที่บันทึกทุกกิจกรรมการเคลื่อนย้ายของสินค้าที่อยู่บนพัลเลตเพื่อสอบย้อนกลับในกระบวนการ หรือการสร้างคลังสินค้าห้องเย็นสาธารณะปลอดอากรเจ้าแรกในประเทศไทยเพื่อตอบโจทย์การค้าเสรี ให้สามารถได้รับสิทธิประโยชน์ทางอากรได้เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ในนามบริษัท เจดับเบิ้ลยูดี แปซิฟิค ก่อตั้งอยู่ที่สุวินทวงศ์ จังหวัดฉะเชิงเทรา และบริษัท เจพีเคโคล์ดสโตเรจ จำกัด ที่ตั้งอยู่ที่บางนา กม.19 ซึ่งเป็นห้องเย็นที่ได้รับการอนุญาตจากกรมศุลกากรให้เป็นพื้นที่ปลอดอากร (Free Zone) แห่งแรกของประเทศไทย ที่มีมาตรฐานบริการ และระบบการทำงานเช่นเดียวกับทาง บริษัท แปซิฟิค ห้องเย็น จำกัด เป็นที่ยอมรับจากลูกค้า และรวมผู้ใช้บริการมากกว่า 200 บริษัท และขยายธุรกิจเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ทั้งกัมพูชา, ลาว และพม่า รวมทั้งประเทศอื่นๆ ในอนาคต

ส่วนคุณภาพ แปซิฟิค ห้องเย็น นั้น มุ่งเน้นการจัดการระบบคุณภาพ นอกเหนือจากระบบ ISO 9001 ทางบริษัทได้นำระบบ GMP ที่ได้รับการรับรองจากกรมประมงเข้ามามีบทบาทในด้านการให้บริการแช่เยือกแข็ง (Freezing) และเน้นเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยเป็นห้องเย็นรับฝากแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้รับระบบคุณภาพ ISO 14001 ตลอดจนการได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมการค้าภายใน สมาคมธุรกิจคลังสินค้า ไซโล และห้องเย็น (WAREHOUSE SILO AND COLD STORAGE BUSINESS ASSOCIATION) ในระดับ 5 ดาว ซึ่งสร้างความเชื่อถือแก่ผู้ใช้บริการหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง นอกเหนือจากนี้บริษัทยังได้เริ่มจัดทำแผนประเมินความเสี่ยง (Master Risk Plan) เพื่อลดสาเหตุของโอกาสที่จะเกิดความเสียหายทั้งต่อชีวิต และ ทรัพย์สิน ให้อยู่ในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ควบคุม และตรวจสอบได้ เป็นแนวทางในการปฏิบัติตามกระบวนการบริหารความเสี่ยงให้เป็นไปอย่างมีระบบ และต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น และความรู้ ความเข้าใจ ทั้งจากพนักงานภายใน และลูกค้าภายนอก

ขณะที่ธรรมาภิบาลของบริษัท ในฐานะบริษัทในกลุ่ม เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทางบริษัทยังยึดหลักธรรมาภิบาล และสิทธิมนุษยชนในการบริหารจัดการบุคลากร ซึ่งผ่านการคัดกรองจากคู่ค้า รวมไปถึงการเปิดเผยข้อมูลอันแสดงถึงความโปร่งใสของบริษัทตามมาตรฐานของตลาดหลักทรัพย์

บทพิสูจน์การเป็นธุรกิจห้องเย็นที่มีการเติบโตอย่างยั่งยืนดูได้จากในปี 2015 ที่ผ่านมา บริษัท แปซิฟิค ห้องเย็น จำกัด ยังได้รับการเสนอชื่อเข้ารับรางวัล PRIME MINISTER'S EXPORT AWARD Best Service Enterprise Award : Trade Logistics หรือ PM AWARD 2015 (รางวัลผู้ส่งออกสินค้าและบริการดีเด่น รางวัลธุรกิจบริการยอดเยี่ยม : สาขาลอจิสติกส์) จากนายกฯ ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังจากที่มีโอกาสเข้าประกวดรางวัล ELMA AWARD 2015 สาขาผู้ให้บริการคลังสินค้าอันเป็นรางวัลระดับประเทศและเป็นที่ยอมรับ ที่เป็นเครื่องยืนยันถึงการบริหารจัดการลอจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ เป็นเครื่องมือในการยกระดับขีดความสามารถของบริษัท และสร้างความได้เปรียบในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน ซึ่งผ่านการพิจารณาตัดสินจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้มีความรู้ความเข้าใจในหลักเกณฑ์การประเมินอย่างดี การเข้าร่วมประกวดจึงถือเป็นความท้าทาย

และสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับทางบริษัท ซึ่ง บริษัท แปซิฟิค ห้องเย็น จำกัด เป็นบริษัทเดียวที่ได้รับรางวัลดังกล่าวในปีที่ผ่านมา และเป็นห้องเย็นรับฝากแห่งแรกที่ได้รับรางวัล ELMA อีกด้วย เป็นการเพิ่มจุดแข็ง และยกระดับบริษัทให้ก้าวเป็นบริษัทระดับแนวหน้าของประเทศ เพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศต่อไป

จากที่กล่าวมานั้น นอกจากจะสามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงการมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของบริษัทได้เป็นอย่างดี และยังแสดงให้เห็นว่าบริษัทมุ่งเน้นการพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืน มุ่งที่จะก้าวไปสู่เป้าหมาย และความสำเร็จที่เราตั้งไว้พร้อมกับการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน ที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงผลประกอบการ แต่ต้องให้ความสำคัญต่อการพัฒนาสังคม และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น