xs
xsm
sm
md
lg

“สุวิทย์” ดึง 5 หน่วยงานรัฐทำเอ็มโอยูจัดทำตัวเลขชี้วัดเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สุวิทย์” ดึง 5 หน่วยงานทำเอ็มโอยูแลกเปลี่ยนข้อมูลจัดทำตัวชี้วัดเศรษฐกิจระหว่างประเทศใน 4 มิติ ทั้งด้านการส่งออกสินค้า การส่งออกบริการ การลงทุนจากต่างประเทศ และการลงทุนของคนไทยในต่างประเทศ เล็งเผยแพร่ทุกไตรมาส เริ่มครั้งแรกเดือน เม.ย.นี้

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้หารือร่วมกับ 4 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจการค้าการลงทุนไทย โดยทั้ง 5 หน่วยงานเห็นพ้องร่วมกันที่จะจัดทำตัวชี้วัดเศรษฐกิจระหว่างประเทศให้ครอบคลุม 4 มิติ ทั้งการส่งออกสินค้า การส่งออกบริการ การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (Inward FDI) และการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ (Outward FDI)

โดยทั้ง 5 หน่วยงานได้ตกลงที่จะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ โดยมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เป็นหน่วยงานกลางที่จะร่วมมือกับหน่วยงานเกี่ยวข้องเพื่อนำฐานข้อมูลมารายงานตัวชี้วัดเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และนำมาเผยแพร่ในเชิงลึกว่าตัวชี้วัดทั้ง 4 รายการมีความสัมพันธ์กันอย่างไร เพื่อให้เห็นภาพครอบคลุมทุกมิติ

ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มแถลงตัวชี้วัดเศรษฐกิจระหว่างประเทศครั้งแรกในเดือน เม.ย.นี้ ซึ่งใน 3 รายการ คือ การส่งออกบริการ การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ และการลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศ จะเป็นการรายงานตัวเลขย้อนหลัง ซึ่งจะเป็นตัวเลขของปี 2558 ทั้งหมด จากนั้นจะรายงานเป็นรายไตรมาส เพราะการเก็บฐานข้อมูลไม่สามารถจัดทำได้แบบทันเหตุการณ์ ไม่เหมือนกับการส่งออกที่ตัวเลขจะเป็นเดือนต่อเดือน

“การจัดทำรายงานข้อมูลตัวชี้วัด แต่ละหน่วยงานก็มีตัวเลขข้อมูลในมืออยู่แล้ว ก็แถลงข่าวเผยแพร่กันตามปกติไป แต่กระทรวงพาณิชย์จะนำข้อมูลเหล่านี้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมารวบรวมอีกครั้ง โดยจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ลงลึกถึงความสัมพันธ์ของทั้ง 4 ตัว แต่ต้องยอมรับว่าตัวเลขอีก 3 รายการที่ไม่ใช่การส่งออกสินค้าต้องเก็บข้อมูลย้อนหลังก็อาจมีการแถลงเป็นรายไตรมาส โดยในเดือนเม.ย.จะเป็นการเริ่มแถลงครั้งแรก ก็จะนำตัวเลขของปี 2558 มาแถลงก่อน” นายสุวิทย์กล่าว

นายสุวิทย์กล่าวว่า การจัดทำตัวชี้วัดเศรษฐกิจระหว่างประเทศใหม่ ได้รายงานให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี รับทราบแล้ว ซึ่งสาเหตุของความจำเป็นที่ต้องเก็บตัวเลขเหล่านี้เนื่องจากสถานการณ์โลกได้เปลี่ยนแปลงไป จะเห็นได้จากจีดีพีโลกที่มีอัตราการขยายตัวมากกว่าการค้าโลก เนื่องจากประเทศทั่วโลกหันมาพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศและการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้ตัวเลขการส่งออกสินค้าลดลง แต่จะไปเพิ่มในตัวเลขของการลงทุนและการค้าบริการแทน

“สถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปจำเป็นจะต้องมองผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) ที่นับจากมูลค่าผลผลิตของคนไทยกับมูลค่าผลผลิตต่างชาติ ควบคู่ไปกับผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีเอ็นพี) ที่นับเฉพาะมูลค่าผลผลิตของคนไทยอย่างเดียว เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การค้าการลงทุนของไทยในเวทีโลก” นายสุวิทย์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในด้านของการเก็บข้อมูลแต่ละหน่วยงานมีการรวมรวมข้อมูลไว้อยู่แล้ว อย่าง ธปท.มีการเก็บข้อมูลตัวเลขการค้าบริการ 10 กลุ่ม เช่น กลุ่มขนส่ง กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มก่อสร้าง กลุ่มการเงิน กลุ่มคมนาคม กลุ่มคอมพิวเตอร์ กลุ่มประกันภัย กลุ่มทรัพย์สินทางปัญญา และกลุ่มนันทนาการ โดยจะขยายการเก็บข้อมูลเพิ่มอีก 2 กลุ่ม คือ กลุ่มรับจ้างผลิต และกลุ่มซ่อมบำรุง ก็จะนำข้อมูลเหล่านี้มากำหนดยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมใหม่ ส่วนบีโอไอมีการเก็บตัวเลขลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศอยู่แล้ว และข้อมูลการลงทุนของคนไทยในต่างประเทศมีการเก็บตัวเลขจากตลาดหลักทรัพย์
กำลังโหลดความคิดเห็น