ไทยเตรียมนำร่องโครงการวิ่งรถบรรทุกขนส่งสินค้าทะลุ 3 ประเทศ “ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์” ทดลอง ก.ค.-ธ.ค. 59 ก่อนนำข้อมูลประเมินผล ปรับปรุงร่วมกันเพื่อเชื่อมระบบศุลกากรผ่านแดนอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ “คมนาคม” มอบกรมการขนส่งฯ คัดเลือกผู้ประกอบการขนส่งเข้าร่วม
นายดรุณ แสงฉาย รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการประสานการขนส่งผ่านแดนแห่งชาติว่า ที่ประชุมได้พิจารณาตามข้อตกลงในการทดลองวิ่งรถบรรทุกขนส่งสินค้าระหว่าง 3 ประเทศ คือ ไทย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ เพื่อทดลองในระบบการจัดเก็บภาษีศุลกากร เส้นทางที่เหมาะสม ระบบการตรวจโรค และระบบประกันภัยต่างๆ โดยมีมติในส่วนของไทยว่าจะต้องมีการคัดเลือกผู้ประกอบการขนส่งเข้าร่วมทดลองเป็นเวลา 6 เดือน ระหว่างเดือน ก.ค.- ธ.ค. 2559 เพื่อนำข้อมูลไปดำเนินการปรับปรุงร่วมกับมาเลเซียและสิงคโปร์ต่อไป โดยได้มอบให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) คัดเลือกผู้ประกอบการโดยตั้งคณะกรรมการคัดเลือกและกำหนดหลักเกณฑ์ต่อไป ซึ่งเป้าหมายของความร่วมมือดังกล่าวเพื่อให้การขนส่งสินค้าของ 3 ประเทศต่อเนื่องกัน ไม่ต้องเสียเวลาในการเปลี่ยนถ่ายรถ และเป็นการแก้ปัญหารถผิดกฎหมายอีกด้วย
ทั้งนี้ โครงการนำร่องระบบศุลกากรผ่านแดนอาเซียน (ASEAN Customs Transit System (ACTS) Pilot Testing) เป็นการนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้กับการดำเนินพิธีการศุลกากรผ่านแดนอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีประเทศที่เข้าร่วมโครงการนำร่อง ACTS 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งจะเริ่มทดสอบโครงการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2559
สำนักเลขาธิการอาเซียน โดยการสนับสนุนของที่ปรึกษาโครงการสนับสนุนการรวมกลุ่มในภูมิภาคอาเซียนของสหภาพยุโรป (ASEAN Regional Integration Support from EU : ARISE) ได้จัดทำร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการนำร่องดำเนินโครงการระบบศุลกากรผ่านแดนอาเซียน (Memorandum of Understanding on the Operational of the Pilot for the ASEAN Customs Transit Systems) จัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง 3 ประเทศในโครงการนำร่อง ACTS เพื่อกำหนดรายละเอียดในการดำเนินโครงการดังกล่าว
ในส่วนของประเทศไทย เพื่อเป็นการเตรียมการของผู้ประกอบการขนส่งระหว่างประเทศที่จะรองรับโครงการนำร่อง ACTS นี้ จำเป็นที่จะต้องดำเนินการให้มีการคัดเลือกผู้ประกอบการขนส่งระหว่างประเทศ โดยจะต้องมีการออกใบอนุญาต (Permit) รวมทั้งสติกเกอร์ติดยานพาหนะแก่ผู้ประกอบการขนส่งที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อดำเนินการขนส่งสินค้าผ่านแดนภายใต้โครงการฯ โดยมีกำหนดระยะเวลาทดลอง 6 เดือน (กรกฎาคม-ธันวาคม 2559) โดยที่ประชุมมีมติมอบหมายให้ ขบ.เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจในการดำเนินการต่างๆ เพื่อคัดเลือกผู้ประกอบการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศภายใต้กรอบ MOU ดังกล่าว เนื่องจาก ขบ.เป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์ในการดำเนินการคัดเลือกผู้ประกอบการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
และให้ ขบ.ดำเนินการกำหนดเกณฑ์และคัดเลือกผู้ประกอบการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศภายใต้โครงการนำร่อง ACTS ไปก่อน แต่ยังไม่สามารถออกใบอนุญาต (Permit) และสติกเกอร์ติดยานพาหนะ แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกได้จนกว่า MOU จะมีผลบังคับใช้ระหว่างประเทศที่เข้าร่วมโครงการฯ
รวมถึงยกร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อรองรับการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจำนวน 2 คณะ คือ คณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ผู้ประกอบการขนส่งระหว่างประเทศภายใต้โครงการนำร่องระบบศุลกากรผ่านแดนอาเซียน และคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาคัดเลือกและกลั่นกรองผู้ประกอบการขนส่งระหว่างประเทศภายใต้โครงการนำร่องระบบศุลกากรผ่านแดนอาเซียน