xs
xsm
sm
md
lg

แอร์พอร์ตลิงก์คาดปี 59 ผู้โดยสารทะลุ 22 ล้านคน เร่งเพิ่มลิฟต์บันไดเลื่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“แอร์พอร์ตลิงก์” เผยเปิด 5 ปีมีผู้โดยสารรวมกว่า 80 ล้านคน คาดปี 59 มีผู้โดยสาร 22 ล้านคน เดินหน้าเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก ลิฟต์ บันไดเลื่อน CCTV ใน 8 สถานี ย้ำมาตรฐาน ความปลอดภัยไม่เคยเกิดอุบัติเหตุ ขณะที่ผลสำรวจประชาชนพึงพอใจในบริการเพิ่มขึ้น

พลเอก ดรัณ ยุทธวงษ์สุข รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์) เปิดเผยว่า ผลสำรวจจากฐานข้อมูลสารสนเทศด้านการขนส่งและจราจรเพื่อประเมินขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศบ่งชี้ว่ายอดผู้โดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ตั้งแต่เปิดให้บริการปี 2554- 2558 รวม 5 ปี มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2554 มีผู้โดยสาร 12,421,636 คน ปี 2555 มีผู้โดยสาร 14,932,015 คน ปี 2556 มีผู้โดยสาร 15,613,034 คน ปี 2557 มีผู้โดยสาร 17,064,149 คน ปี 2558 มีผู้โดยสาร 19,308,361 คน โดยตลอด 5 ปีมีผู้โดยสารรวมกว่า 80 ล้านคน

โดยคาดว่าปี 2559 จะมีผู้โดยสารเพิ่มสูงขึ้นถึง 22 ล้านคน ซึ่งบริษัทฯ มีแผนงานในการเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ลิฟต์และบันไดเลื่อนอีกรวม 117 ตัว และเก้าอี้ม้านั่งของผู้โดยสารเพิ่มอีก 42 ตัว ใน 8 สถานี นอกจากนั้นยังมีหลังคาทางเดินและทางเดินของผู้โดยสาร, ไฟฟ้าแสงสว่าง, กล้อง CCTV และที่จอดรถ ในสถานีหัวหมาก บ้านทับช้าง และลาดกระบัง รวมถึงประตูกั้นระหว่างชานชาลาและขบวนรถไฟ (PSD : Platform Screen Door) และพัดลมระบายอากาศบนชานชาลาสถานี

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ดำเนินการติดตั้งลิฟต์และบันไดเลื่อนไปแล้วถึง 127 ตัวใน 8 สถานี หรือจะเป็นเก้าอี้ม้านั่งของผู้โดยสารที่บริษัทฯ ดำเนินการติดตั้งไปแล้วถึง 134 ตัว รวมถึงที่จอดรถยนต์แต่ละสถานี ทำทางเดินเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ เช่น ทางเชื่อมรถไฟฟ้า BTS ที่สถานีพญาไท และรถไฟฟ้า MRT ที่สถานีมักกะสัน รวมทั้งทางเชื่อมท่าเรือ “รามหนึ่ง” ที่สถานีรามคำแหง เป็นต้น นอกจากนี้ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ยังมีมาตรฐานความปลอดภัยที่สูงมาก โดยสังเกตได้จากสถิติไม่เคยเกิดอุบัติเหตุในระบบเลย ในขณะที่จากการทำสำรวจร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตพบว่าผู้โดยสารมีความพึงพอใจอยู่ในเกณฑ์ที่ดีต่อความคุ้มค่าในการใช้บริการ, การให้บริการของพนักงานประจำสถานี เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และแม่บ้าน รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ประจำสถานี

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้จัดตั้งโครงการ “Smile Station” เพื่อฝึกอบรมพัฒนาพนักงานประจำสถานี ทั้งเจ้าหน้าที่ขายตั๋ว เจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และแม่บ้าน ให้มีมาตรฐานในการให้บริการแก่ผู้โดยสารอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับการเดินรถไฟฟ้าฯ และซ่อมบำรุง ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อร่วมมือกันวิจัยและพัฒนาความรู้ด้านวิศวกรรมระบบราง เทคโนโลยีต่างๆ และงานซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าฯ ให้แก่บุคลากรของบริษัทฯ

รวมถึงมีโครงการสถาบันฝึกอบรมรถไฟฟ้าระบบราง (ETPI : Electrified Trains Professional Training Institute) เพื่อสร้างกำลังคนมืออาชีพด้านรถไฟฟ้าระบบรางในทุกสาขางานขึ้นใช้เองภายในองค์กร และร่วมมือกับสถาบันอาชีวศึกษา 50 แห่งภายใต้สังกัดสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยในการลงนามบันทึกความเข้าใจในการช่วยพัฒนาการเรียนการสอนเกี่ยวกับขนส่งรถไฟฟ้าระบบรางที่มีมาตรฐาน ทั้งการเดินรถ เทคโนโลยีต่างๆ และการซ่อมบำรุง ให้แก่นักศึกษาจากสถาบันอาชีวศึกษาที่ได้ร่วมมือกันมีความรู้ความสามารถจนพัฒนากลายเป็นบุคลากรสำคัญของขนส่งรถไฟฟ้าระบบรางได้ โดยนักศึกษาที่ได้รับการเรียนการสอนและฝึกอบรมจากบริษัทฯ จะได้รับประกาศนียบัตรรับรองมาตรฐานวิชาชีพสาขาวิชาชีพรถไฟความเร็วสูงและระบบราง เนื่องจากบริษัทฯ ได้ร่วมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ(องค์การมหาชน) เพื่อขอเป็นองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานวิชาชีพรถไฟความเร็วสูงและระบบรางรวมทั้งสิ้น 13 คุณวุฒิวิชาชีพ อาทิ ช่างเทคนิคซ่อมบำรุงระบบรถไฟฟ้าด้านระบบไฟฟ้าชั้น 4 นายสถานีชั้น 4 รวมทั้งลงนามบันทึกความเข้าใจในความร่วมมือกับบริษัท เคคิว คอร์เปอร์เรชั่น ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานฮาเนดะในประเทศญี่ปุ่นในด้านการประชาสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนบุคลากรในการศึกษาดูงานอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น