“อาคม” ยืดเวลาตรวจสอบชั่วโมงทำงานนักบิน “นกแอร์” อีก 1 เดือน เผย กพท.รายงานการตรวจสอบ พบนกแอร์เก็บข้อมูลนักบินเป็นรายเดือนและรายปี ไม่มีแบบรายวัน ทำให้ข้อมูลยังคลาดเคลื่อน และสรุปผลไม่ได้จึงให้ไปทำใหม่ ยอมรับมีนักบินทำงานเกินกำหนดเล็กน้อย ส่วนการชดเชยผู้โดยสารเหตุการณ์ 14 ก.พ. คืบ 90%
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ได้รายงานความคืบหน้าปัญหาสายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ยกเลิกเที่ยวบินกะทันหันเมื่อวันที่ 14 ก.พ.ต่อที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 1 มี.ค. ซึ่งได้เรียกผู้บริหารนกแอร์มาตักเตือน พร้อมเชิญ 14 สายการบินภายในประเทศมาร่วมประชุมแจ้งมาตรการให้รับทราบแล้ว โดยเมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ตรวจสอบชั่วโมงบินและชั่วโมงการทำงานนักบินนกแอร์ และระบบการบริหาร แผนแก้ปัญหาฉุกเฉิน การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและการคุ้มครองผู้โดยสารตามสิทธิที่กรมการบินพลเรือนกำหนด
โดย กทพ.ได้รายงานเข้ามาเมื่อวันที่ 1 มี.ค.ว่า นกแอร์มีการจัดเก็บข้อมูล บันทึกเวลาบิน และช่วงปฏิบัติหน้าที่บิน (Flight Time and Flight Duty Period) ของนักบินและลูกเรือ (Pilot and Cabin Crew) ในรูปแบบรายเดือน และรายปีปฏิทิน ไม่มีแบบรายวัน ซึ่งยังไม่ตรงกับประกาศที่ให้เก็บข้อมูลแบบ 7 วันต่อเนื่องซึ่งต้องไม่เกิน 34 ชม., 28 วันต่อเนื่อง ต้องไม่เกิน 110 ชม. และ 365 วันต่อเนื่อง ไม่เกิน 1,000 ชม. เมื่อฐานข้อมูลและวิธีการเก็บข้อมูลยังไม่ตรงกัน ข้อมูลยังคลาดเคลื่อนจึงยังสรุปผลไม่ได้ จึงให้เวลานกแอร์ทำข้อมูลใหม่ให้ตรงกับประกาศ และให้ กพท.ตรวจสอบอีกครั้ง และสรุปใน 1 เดือน ทั้งนี้ หากตรวจสอบเฉพาะข้อมูลรายเดือนและรายปีย้อนหลัง 12 เดือนขณะนี้พบว่ามีชั่วโมงบินเกินกำหนดเล็กน้อย แต่เชื่อว่าเมื่อจัดการข้อมูลให้ตรงกันเป็นราย 7 วันต่อเนื่องแล้ว ตรวจสอบใหม่อาจจะไม่เกิน
นอกจากนี้ กพท.จะต้องตรวจสอบชั่วโมงบินของนักบินอีก 13 สายการบินที่มีเส้นทางประจำภายในประเทศ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน ส่วนการชดเชยผู้โดยสารที่ได้รับผลกระทบเมื่อวันที่ 14 ก.พ. นกแอร์ดำเนินการไปแล้ว 90% ขณะที่การปรับโครงสร้างของนกแอร์ ซึ่งมีการแยกฝ่ายนักบินออกจากฝ่ายตรวจสอบเพื่อไม่ให้มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการบริหารงานเป็นการเตรียมตัวสำหรับการร่วมมือทางธุรกิจกับสายการบินยุโรป และพร้อมสำหรับการตรวจสอบของเอียซ่า
“นกแอร์แจ้งว่าจะบินเช่าเหมาลำบางส่วนไปถึงวันที่ 10 มี.ค. ซึ่งระหว่างนี้จะเร่งหานักบินมาเพิ่มจากขณะนี้ที่มี 190 คนเพื่อให้สอดคล้องกับจำนวนเที่ยวบินและไม่ให้เกิดดีเลย์ ส่วนการยกเลิกเที่ยวบินจะแจ้ง กพท.วันต่อวัน ขณะที่ต้องแจ้งผู้โดยสารล่วงหน้าพร้อมดูแลผู้โดยสารตามสิทธิคุ้มครอง” นายอาคมกล่าว
ด้านนางอัมพวัน วรรณโก รองอธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) กล่าวว่า กรณีสายการบินปล่อยให้นักบินหรือลูกเรือปฏิบัติงานจนเกินข้อจำกัดเวลา สายการบินจะมีโทษทางปกครอง คือการพักใช้หรือเพิกถอนใบรับรองการเดินอากาศ (AOC) และมีโทษทางอาญาตาม พ.ร.บ.การเดินอากาศ คือ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท หากเป็นนักบินหรือลูกเรือที่มีโทษทางปกครอง คือ การพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่และมีโทษทางอาญา ตาม พ.ร.บ.การเดินอากาศต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท ซึ่งที่ผ่านมา กพท.มีการสุ่มตรวจพบสายการบินมีชั่วโมงนักบินเกินกำหนด และทำการปรับตามกำหนดแล้ว
ส่วนการดูแลผู้โดยสารเหตุวันที่ 14 ก.พ.พบว่ามีผู้โดยสารเช็กอิน 3,002 คน มีการคืนบัตรโดยสารเที่ยวไป 374 คน เที่ยวกลับ 160 คน และมีส่วนที่เดินทางกับสายการบินอื่น และจัดที่พัก ส่วนการชดเชย 1,200 บาท จ่ายแล้ว 1,154 คนสำหรับผู้โดยสารเดินทางออกจากดอนเมือง และกำลังทยอยอีก 263 คน ส่วนขาเข้ามาดอนเมือง จ่ายแล้ว 784 ราย กำลังทยอยจ่ายอีก 32 ราย ซึ่ง กพท.จะติดตามการชดเชยผู้โดยสารต่อไป