ผู้จัดการรายวัน 360 - นายกสมาคมโฆษณาฯ คาดภาพรวมสื่อโฆษณาปี 59 เติบโต 3.5% จากมูลค่า 1.36 แสนล้านบาท เผยลูกค้าโยกเงินฟรีทีวีสู่ทีวีดิจิตอลเพิ่มขึ้น ส่งผลภาพรวมสื่อโทรทัศน์เติบโต 7% ส่วนสื่ออื่นๆ ตกกราวรูด ทั้งหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วิทยุ และสื่อนอกบ้าน แนะผู้ผลิตสื่อและนักสร้างสรรค์รายการสร้างจุดยืนที่แตกต่างของคอนเทนต์และมุ่งสร้างรายได้จากรายการคุณภาพทดแทนรายการและละครน้ำเน่า งดให้ความเห็นกรณี “สรยุทธ” แนะสังคมต้องแยกพิจารณาเป็นส่วนๆ ระหว่างเรื่องส่วนตัวกับคุณภาพและเรตติ้งรายการ
น.ส.อ่อนอุษา ลำเลียงพล ประธานกิตติมศักดิ์ เดอะลีโอ เบอร์เนท กรุ๊ป ประเทศไทย ในฐานะนายกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาในปี 2558 มีมูลค่าประมาณ 1.36 แสนล้านบาท เติบโตขึ้น 2.8% ตามอัตราการเติบโตทางจีดีพีของประเทศ โดยคาดว่าในปี 2559 จะเติบโตเป็น 3.4-3.5%
ภาพรวมในการใช้สื่อโฆษณาของลูกค้ายังมีการเปลี่ยนแปลงจากฟรีทีวีระบบแอนะล็อกไปยังทีวีดิจิตอลมากขึ้น ส่งผลให้ในปี 2558 สื่อโทรทัศน์ยังคงมีอัตราการเติบโต 7% แบ่งเป็นฟรีทีวีระบบแอนะล็อกเติบโต 40% ทีวีดิจิตอล 16% เคเบิลทีวี 3% ทรูวิชั่นส์ 3% ส่วนที่เหลือคืออื่นๆ ขณะที่สื่อหนังสือพิมพ์เติบโตลดลง 14% นิตยสารลดลง 11% วิทยุ และสื่อนอกบ้าน (Out Door) ลดลง 6%
“การผลิตสื่อโฆษณายุคใหม่จำเป็นต้องคำนึงถึงผลลัพธ์ที่ลูกค้าต้องการ (KPI) มากกว่ารูปแบบ หรือแพลตฟอร์มของสื่อโฆษณา เนื่องจากลูกค้ามีความต้องการความคุ้มค่าจากการใช้เงินด้านสื่อมากขึ้น ทั้งในส่วนของการสร้างยอดขายที่เพิ่มขึ้น การสร้างการรับรู้สู่ผู้บริโภค การสร้างภาพลักษณ์ ตลอดจนการแก้ปัญหาแบรนด์และองค์กร ดังจะเห็นได้จากแอปพลิเคชันต่างๆ ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค เช่น อูเบอร์ และแกร็บ เป็นต้น”
น.ส.อ่อนอุษากล่าวด้วยว่า ทิศทางของทีวีดิจิตอลยังคงมีโอกาสเติบโตแต่จะมีการแข่งขันสูงขึ้น ส่งผลให้มีทั้งผู้ประกอบการที่สามารถดำเนินธุรกิจอยู่รอดได้และไม่ได้ แต่การจะอยู่รอดได้จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับคอนเทนต์รายการซึ่งจำเป็นต้องมีองค์ประกอบหลายด้าน คือ 1. รายละเอียดของคอนเทนต์ 2. ความแตกต่างของคอนเทนต์ที่จะสร้างความสนใจให้ผู้ชม และ 3. การสร้างการรับรู้ถึงจุดยืนของคอนเทนต์รายการให้ผู้ชมได้รับรู้
“ตามวิสัยทัศน์ประเทศไทย Version 4.0 ซึ่งต้องการผลักดันให้เป็นประเทศที่มีรายได้สูง หรือ Creative Economy จำเป็นต้องพัฒนาคนให้มีความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมใหม่ๆ หรือ Creativity เพราะฉะนั้นผู้ผลิตสื่อและนักสร้างสรรค์รายการจำเป็นต้องเปลี่ยนแนวคิดในการเพิ่มรายได้จากรายการที่มีคุณภาพ มีสาระและมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น แทนที่รูปแบบรายการเก่าๆ ที่มักสร้างรายได้ คือ ละคร ซิตคอม และบันเทิง เป็นต้น”
น.ส.อ่อนอุษายังให้ความเห็นถึงกรณี นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ประกาศข่าวชื่อดัง ว่า โดยส่วนตัวไม่มีความคิดเห็นใดๆ แต่ขอชี้แจงให้ประชาชนทั่วไปรับทราบว่ากรณีดังกล่าวต้องแยกเป็นส่วนๆ คือ ถือเป็นเรื่องส่วนตัวที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งแม้ศาลชั้นต้นตัดสินแล้วว่ามีความผิด แต่ผู้เสียหายยังสามารถประกันตนและต่อสู้ในชั้นต่อไปเพื่อแสดงความบริสุทธิ์
“ในแง่ของการทำหน้าที่สื่อมวลชนก็ต้องพิจารณาว่านายสรยุทธทำหน้าที่อย่างถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน เหมาะสม และมีจรรยาบรรณหรือไม่ โดยต้องแยกว่าคำตัดสินของศาลชั้นต้นระบุว่านายสรยุทธมีความผิด แต่รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ซึ่งผลิตโดย บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ไม่ได้มีความผิด เพราะฉะนั้นกรณีนี้จึงยังไม่ได้ส่งผลใดๆ ต่อการลงโฆษณาของลูกค้าและแบรนด์ต่างๆ ซึ่งพิจารณาจากปัจจัยสำคัญคือเรตติ้งของรายการเป็นหลัก”